05-04-2567

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมหารือ การพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ฯ เผย เตรียมขยายผลจัดงานมหกรรมประวัติศาสตร์ 4 ภูมิภาค ในปี 2567

   นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย ครั้งที่ 1/2567 ที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมี นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ.ในฐานะรองประธานกรรมการ ฯ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช  รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัด สกศ. สอศ. สกร. สช. เข้าร่วมประชุม 

   นายสุรศักดิ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า  สาระสำคัญของการประชุมในวันนี้ จะเป็นการรายงานการดำเนินการขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของ สพฐ. ที่ผ่านมาได้แก่ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ,แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ สพฐ. ได้ดำเนินการ Kick Off : การขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดนครพนม จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดปัตตานี ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย การสร้างความตระหนักความภาคภูมิใจ เสวนาวิชาการ การนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์วิถีใหม่ของโรงเรียนต้นแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์  

   “ทั้งยังมีการทำบันทึกข้อตกลง แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 ที่ ศธ. โดยเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ศธ. กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ,หนังสือแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เรื่องซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย พร้อมทั้งแนวทางการขับเคลื่อนการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทยของ สพฐ. ปีงบประมาณ  2567-2568 , สพฐ. ได้ดำเนินการ Kick Off : การขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ประจำปีงบประมาณ 2567 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 ณ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย , สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รายงานเกี่ยวกับ เวทีเสนาวิชาการ “เปิดโฉมหน้าวิชาประวัติศาสตร์ไทย : คน Gen ใหม่ เรียนเรื่องเก่าแบบไหนในยุค AI ครองเมือง” เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2567 ณ TK Park” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว 

   นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า  สำหรับแผนการดำเนินการขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ปี 2567 ของ สพฐ. ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การพัฒนาครูต้นแบบเทิดทูนสถาบันสำคัญของชาติ,การจัดมหกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ใน 4 ภูมิภาค ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงคุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์  ในราชวงศ์จักรีที่มีต่อสังคมไทย , การประกวดสื่อวิดีทัศน์ ภาพยนตร์สั้น เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และ Roadshow รูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ 77 จังหวัด ที่สำคัญในปี 2567 จะมีการขยายผลจัดงานมหกรรมประวัติศาสตร์ 4 ภูมิภาคด้วย