11-04-2567

รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เผย ครม.อนุมัติงบกลาง จ้างนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน ชี้เตรียมยกระดับการศึกษาก้าวหน้า

   พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 13/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting โดย รมว.ศธ.กล่าวแสดงความขอบคุณ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ที่อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 618,795,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมาบริการนักการภารโรง จำนวน 13,751 อัตรา ระยะเวลา 5 เดือน เพื่อปฏิบัติงานในเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2567 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เพื่อให้มีนักการภารโรงครบทุกโรงเรียน ซึ่งในส่วนของปี 2568 ครม.ได้อนุมัติงบประมาณปี 2568 จำนวน 25,370 อัตรา รวมเป็นเงินกว่า 2,739,960,000 บาท ซึ่ง สพฐ.จะจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป “ศธ.ให้ความสำคัญและตระหนักถึงภาระหน้าที่ของครู จึงได้เสนอของบประมาณเพื่อจ้างนักการภารโรงมาดูแลสภาพแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค และทรัพย์สินของทางราชการ รวมถึงดูแลความปลอดภัยของครูและนักเรียน ซึ่งสอดคล้องกับมติ ครม.ที่ได้เห็นชอบให้ยกเลิกครูเวร ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยหลังจากนี้ทาง สพฐ.จะได้แจ้งบัญชีจัดสรรนักการภารโรงไปยังเขตพื้นที่การศึกษา ก่อนจัดสรรต่อไปให้โรงเรียน ซึ่งคาดว่าโรงเรียนจะสามารถสรรหาและทำสัญญาจ้างได้ภายใน 30 เมษายนนี้

   นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ได้ยกย่องชื่นชมด.ช.อมรเทพ เมษา นักเรียนชั้น ม.2/6 โรงเรียนหาดอมราอักษรลักษณ์วิทยา สังกัด สพม.สมุทรปราการ ที่ได้กระทำความดีที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจมน้ำ เป็นหญิงวัย 57 ปี มีอาการมึนเมา เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา บริเวณป่าชายเลน ถนนท้ายบ้าน โดยเบื้องต้น ด.ช.อมรเทพ ได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือ จึงโยนโฟมลงไปให้ผู้ประสบเหตุ แต่ผู้ประสบเหตุไม่ยอมเกาะ จึงตัดสินใจกระโดดลงน้ำไป เพื่อว่ายเข้าไปช่วยเหลือ จนสามารถนำตัวผู้ประสบเหตุขึ้นจากฝั่งได้อย่างปลอดภัย ส่วนการรายงานถึงการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA โดย สสวท. ได้รายงานหลักสูตรการวัดผลประเมินผลตามแนวทาง PISA เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถนำแนวทาง PISA มาปรับใช้ในชั้นเรียน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์แบบสะสมชั่วโมงเรียนจนครบ 7 บทเรียน มีครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียน 6,562 ราย เข้ารับการอบรมแล้ว 1,573 ราย เรียนสำเร็จแล้ว 39% (607 ราย) และกำลังเรียน 966 ราย เช่นเดียวกับ สพฐ.ที่ได้รายงานว่า สพฐ. ได้มีแนวคิดในการจัดระบบพี่เลี้ยงโรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง โดยมีการพัฒนาชุดกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะความรู้ จัดการเรียนรู้ในห้องเรียน เพิ่มเติมคลังแบบทดสอบตามแนวทางการประเมิน PISA พร้อมพัฒนาแนวทางการวัดผลในรูปแบบ Computer Based ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมตัวให้ศึกษานิเทศก์ในการเตรียมความพร้อมเรื่อง PISA พร้อมกันนี้ มีนักเรียนเป้าหมายที่เข้าระบบ PISA Style Online Testing ทดลองใช้เครื่องมือในการพัฒนา กว่า 56,973 คน โดย ในอนาคต สพฐ. ได้วางแผนการฝึกอบรมวิทยากรแกนนำและการเตรียมความพร้อมการเป็นพี่เลี้ยงของเขตพื้นที่รูปแบบออนไลน์ รวมถึงเขตพื้นที่มัธยมศึกษา และประถมศึกษา ต่อไป

   นอกจากนี้ สพฐ. ยังได้รายงานผลการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในโรงเรียน และการดำเนินการพัฒนา ของนักเรียนชั้น ป.4-6 และ ม.1-ม.6 สังกัด สพฐ. จำนวนรวม 511,711 คน โดยนักเรียนต้องการให้โรงเรียนพัฒนาปรับปรุงในเรื่องต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนอย่างมีความสุขและความปลอดภัยในโรงเรียน อาทิ การเข้าแถวหน้าเสาธง ควรสร้างความรู้สึกต้องการมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ค่ายธรรมะ ควรเป็นไปตามความสมัครใจและพัฒนาครูโค้ชคุณธรรม การเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ควรมีแหล่งเรียนรู้ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ สามารถทบทวนได้ตลอดเวลา ส่วนในเรื่องห้องน้ำโรงเรียน ต้องการให้มีการปรับปรุงให้พร้อมใช้งาน จึงได้มอบให้ สพฐ.พิจารณาดำเนินการสำรวจข้อมูลความพึงพอใจ พร้อมจัดลำดับสถานะในการดำเนินการปรับปรุงในช่วงปิดภาคเรียน เช่น สีแดง สีเหลือง สีเขียว เพื่อให้มีห้องน้ำที่เพียงพอและพร้อมใช้งาน โดยให้มีการรายงานถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงกายในช่วงเปิดภาคเรียน พร้อมได้มอบโฆษกกระทรวงศึกษาธิการและทีมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้รับรู้โดยทั่วกันต่อไป ในส่วนของ สอศ. มีความก้าวหน้าการเคลื่อนการศึกษาระบบทวิภาคี โดยได้ปฐมนิเทศนักศึกษา ทวิภาคี 960 คน เข้าร่วมฝึกอาชีพกับบริษัทไมเนอร์ การอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรูเกี่ยวกับการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี แก่ผู้บริหาร ครู และบุคลากร จากสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดทั่วประเทศ 157 คน และล่าสุด ได้ลงนามความร่วมมือระหว่าง สอศ. กับภาคเอกชน ดึงบริษัทชั้นนําด้าน อุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้ง 3 แห่งของประเทศ คือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด, บริษัท ไทยฮอนด้า จํากัด, บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาระบบปกติและระบบทวิภาคีเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษา สมรรถนะสูง ให้มีความพร้อมเมื่อจบการศึกษา มีทักษะฝีมือตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์" รมว.ศธ.กล่าว