06-06-2567

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำในเวทีเสวนายูเนสโก "ไทย" ให้ความสำคัญกับการศึกษาฯ ที่ยั่งยืน ใช้เป็นหลักการในยุทธศาสตร์ชาติ ชี้นโยบายเรียนดี มีความสุข สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน

   พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเสวนาในพิธีเปิดการเสวนาเชิงนโยบายระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการเปิดตัว “ข้อเสนอแนะว่าด้วยการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023” โดยมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม ณ โรงแรมสกายวิว กรุงเทพมหานคร

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  กล่าวตอนหนึ่งว่า การเสวนาฯ ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า เราให้ความสําคัญกับการศึกษา โดยใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนการพัฒนาที่ยังยืน ด้วยการให้ความรู้ ทักษะ และค่านิยมที่จําเป็นสําหรับการดํารงชีวิตในสังคมที่เป็นธรรม สงบสุข และยั่งยืน "ประเทศไทย ให้ความสําคัญในเรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพ การศึกษาเพื่อสิทธิมนุษยชน การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และโดยเฉพาะการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นหลักการสําคัญในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ในแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้บูรณาการหลักการการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้ากับหลักสูตรการศึกษา เพื่อสนับสนุนคุณค่าทางจริยธรรมและพฤติกรรมที่ยั่ยื่น และเน้นการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ในส่วนของการเรียนรู้ ตนมีนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ลดความเหลื่อมลํา สร้างเครือข่าย ความร่วมมือ สร้างการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยมีกระบวนการพัฒนานักเรียน ได้แก่ การสร้างสัมพันธภาพและร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างนักเรียน พัฒนาทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตร่วมกัน และเรียนรู้รูปแบบ Anywhere Anytime โดยใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น

   ซึ่งการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นปัจจัยสําคัญในการเสริมสร้างสันติภาพ การเคารพสิทธิ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ทําให้ผู้เรียนมีโอกาสที่จะรับฟังและเข้าใจมุมมอง และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เกิดความเห็นอกเห็นใจ ลดความขัดแย้ง และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เราใช้เครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดี ระหว่างประเทศของยูเนสโกที่มีอยู่แล้ว เป็นช่องทางในการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อการพัฒนา ที่ยั่งยืน และการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลก เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลก โดยมั่นใจว่าแนวทางที่ได้จากการเสวนาเชิงนโยบายในครั้งนี้ รวมถึง การดําเนินการตามข้อเสนอแนะว่าด้วยการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2023 จะเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการบูรณาการเนื้อหาการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และการพัฒนาที่ยั่งยืน ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรที่นําโดยเยาวชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นําไปสู่การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ดี และสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งในการทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน"