21-06-2567

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พอใจ ขีดความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของไทยปี 2567 สูงขึ้น เชื่อมั่น 18 เขตตรวจราชการ พร้อมเป็นแกนนำขับเคลื่อนนโยบายลงสู่พื้นที่

   พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 23/2567 พร้อมด้วยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับเข้าร่วม ณ ห้องประชุม N 408 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา และประชุมผ่านระบบ e-Meeting มีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA

   รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนแผนการยกระดับผลการประเมิน PISA ไปพร้อมกันและขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และมีการรายงานผลอย่างต่อเนื่อง และในการประเมิน PISA จะมีความแตกต่างจากเดิม คือ การประเมินด้านวิทยาศาสตร์ของ PISA จะมีการเพิ่มเติมเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในบริบทหรือสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ในการจัดการกับประเด็นทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงขอฝากให้ทุกหน่วยงานมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทในระยะสั้นและมีแผนดำเนินการในระยะยาว

   นอกจากนี้ ยังได้รับทราบรายงานผลการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียน ตามแนวทางโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) โดย สพฐ. ได้มีการขยายผลการพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ในระดับเขตพื้นที่ลงสู่สถานศึกษา โดยการพัฒนาครูแกนนำ 1,400 คน เพื่อขยายผลไปสู่ครู 3 โดเมน จำนวน 27,397 คน ใน 245 เขต 9,214 โรงเรียน เพื่อมุ่งพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ในระดับชั้นเรียน ทั้งด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และนำผลการสะท้อนการทำแบบทดสอบ Computer Based Testing ซึ่งในขณะนี้มีนักเรียนที่เข้าสู่ระบบ Computer Based Test (PISA Style) จำนวน 208,268 คน โดยเป้าหมายของการนำนักเรียนเข้าสู่ระบบนั้นอยู่ที่กว่า 500,000 คน

   ในการนี้ สพฐ. ได้มีการถอดบทเรียนความสำเร็จในการยกระดับสมรรถนะความฉลาดรู้ที่สูงกว่า OECD ของโรงเรียนบ้านหลังเขาสังกัด สพป.กาญจนบุรี เขต 4 พบว่า สิ่งที่ทำให้ผลการสอบมีคะแนนสูง เนื่องจากผู้บริหารเห็นความสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ครูเติมเต็มการคิดวิเคราะห์ ให้เทคนิคและแนวทางในการอ่านขั้นสูง นักเรียนที่ผ่านแบบทดสอบตามแนวทาง PISA มีการ “เน้น ซ้ำ ย้ำ ทวน” ส่งผลต่อการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือ “ผู้บริหาร” เพราะการที่มีผู้บริหารหรือผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ก็จะส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนาครู สู่การพัฒนานักเรียน

   ทั้งนี้ สสวท. ได้ร่วมกับ สพฐ. ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับชาติ (PISA) ให้กับครูจำนวน 408 คน จากโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร ที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 136 แห่ง เพื่อให้สามารถนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ฯ ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการขยายการอบรมให้กับหน่วยงานสังกัดต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ซึ่ง สสวท. จะเปิดหลักสูตรการอบรมการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา รุ่นที่ 2 โดยสามารถลงทะเบียนและอบรมผ่านทาง https://teacherpd.ipst.ac.th ได้ตั้งแต่บัดนี้ – 31 ก.ค. 2567 การติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567

   รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอขอบคุณที่ร่วมดำเนินการรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณและผลการใช้จ่ายงบประมาณฯ ให้แล้วเสร็จโดยไว และขอให้ผู้บริหารหน่วยงานติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำเกี่ยวกับการเร่งรัดก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยเฉพาะงบลงทุน ให้แล้วเสร็จ และตามที่ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานดำเนินการนำเข้าข้อมูล แผนงาน โครงการที่เป็นงบรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ลงในระบบของกรมบัญชีกลาง ต้องชื่นชมทุกหน่วยงานที่ดำเนินการให้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด หากหน่วยงานใดไม่สามารถจัดทำได้ตามกำหนดหรือมีปัญหาติดขัด ขอให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานในพื้นที่เร่งเข้าไปให้การช่วยเหลือทั้งด้านระบบและบุคลากร
ฝากการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะเขตตรวจราชการ 18 เขต (สป., สพฐ.) ขอให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานกรรมการบริหารกลุ่มพื้นที่การศึกษา ประจำเขตตรวจราชการ ช่วยกำกับ ติดตาม เร่งรัด ดูแล แนะนำ และส่งเสริมสมรรถนะของผู้บริหารและสร้างเสริมสมรรถนะบุคลากรที่มีความสามารถ ในการเป็นพี่เลี้ยงให้หน่วยงานในพื้นที่ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รมว.ศธ. มีความเชื่อว่า การทำงานให้สำเร็จนั้นไม่ได้อยู่ที่ผู้บริหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงผู้ร่วมงานที่มีสมรรถนะสูง ก็สามารถเป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงในการถ่ายทอดงานให้กับเพื่อนร่วมงานในองค์กรได้เป็นอย่างดี การติดตามความเรียบร้อยด้านอาคารสถานที่ของหน่วยงานในสังกัด

   รมว.ศธ. กล่าวว่า ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันตรวจสอบความเรียบร้อยของอาคาร สถานที่ และภูมิทัศน์ ทั้งภายในอาคารและบริเวณโดยรอบหน่วยงาน โดยขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ทั้งในระดับภาค ระดับจังหวัด ดูแลสถานที่ทำงานซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเรา โดยตนได้มอบหมายหัวหน้าผู้ตรวจราชการ ผู้ช่วยปลัด ศธ. และคณะ ตรวจสอบอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและบริเวณโดยรอบกระทรวงศึกษาธิการ วางแนวปฏิบัติเป็น 2 แนวทาง คือ 1. ดำเนินการปรับปรุงได้ทันที 2. ต้องมีการวางแผนและดำเนินการในระยะกลางและระยะยาว อาทิ การตัดแต่งไม้ยืนต้น การซ่อมประตู/รั้วกระทรวง (บางส่วนที่ชำรุด) ซึ่งในการสำรวจตรวจสอบดังกล่าวนั้น ได้มีแบบประเมินเพื่อปรับปรุงและพัฒนาด้วย โดยหวังให้เป็นแนวทางให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้นำไปพัฒนาต่อไป ขีดความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยปี 2567 (จากรายงาน IMD 2024)

   รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้รับทราบสรุปขีดความสามารถการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการเปรียบเทียบสมรรถนะการศึกษาของประเทศไทยกับนานาชาติ โดยใช้ดัชนีของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development : IMD) เป็นกรอบหลักในการวิเคราะห์ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายและวางแผนเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล โดย IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ รวม 67 ประเทศ ซึ่งในภาพรวมประเทศไทยมีอันดับดีขึ้น จากอันดับที่ 30 เป็นอันดับที่ 25 และมีอันดับด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 54 ซึ่งเท่ากับปีที่ผ่านมา โดยตัวชี้วัดที่มีอันดับดีที่สุด 3 อันดับแรก คือ งบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ และอัตราส่วนนักเรียนต่อครู 1 คนที่สอนระดับประถมศึกษา ตัวชี้วัดที่มีการพัฒนามากที่สุด 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ งบประมาณด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา และดัชนีมหาวิทยาลัย ภาพรวมของด้านการศึกษา 2 ปีย้อนหลัง มีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ผลการทดสอบ PISA ทั้ง 3 ด้าน ความคิดเห็นต่อทักษะทางภาษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ และอัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งพัฒนา เพื่อให้เท่าทันระดับสากล ซึ่งจากผลการจัดอันดับนั้นสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการพัฒนามาโดยตลอดและมีด้านที่ต้องเร่งพัฒนา การที่จะทำให้ประเทศไทยมีอันดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องต้องอาศัยการพัฒนาในการทำงานอย่างก้าวกระโดดมากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากทุกประเทศล้วนมีการพัฒนาเช่นเดียวกัน

   “ขอให้ผู้นำทางการศึกษาทุกท่าน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งในระดับส่านกลาง ระดับเขตตรวจราชการ ระดับภาค และระดับจังหวัด ส่งเสริมการพัฒนาและเสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรในองค์กร ส่งผลต่อการนำนโยบายไปพัฒนาร่วมกัน สร้างเด็ก เยาวชน และครูให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อสะท้อนผลการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจ มีการสื่อสาร สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เพื่อสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อระบบการศึกษาให้มากที่สุด ผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากร “ทำงานดี มีความสุข” เช่นเดียวกับ นักเรียน ก็ขอให้ “เรียนดี มีความสุข” ตามแนวทางการทำงานของ รมว.ศธ.”