27-04-2559

ภาษาไทยใช้ให้ถูก วิ่งเปี้ยว, เกลือสินเธาว์

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  วิ่งเปี้ยว

          สมัยก่อนนี้ที่ท่านผู้อ่านยังเป็นเด็กคงจะเคยเล่นกันในหมู่เด็กๆด้วยการเล่นอย่างหนึ่ง เป็นการวิ่งแข่งกัน แต่ไม่ได้แข่งเพื่อให้ถึงหลักชัยเหมือนการแข่งวิ่งทั่วไป เราเรียกการเล่นนี้ว่าวิ่งเปี้ยว ค่ะ วิ่งเปี้ยว จะแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย แต่ละฝ่ายส่งคนวิ่งอ้อมหลักของฝ่ายตรงข้ามทีละคน โดยวิธีรับช่วงไม้หรือผ้าต่อๆกันไป ฝ่ายที่วิ่งเร็วกว่าใช้ไม้หรือผ้าที่ถืออยู่ตีฝ่ายตรงข้ามได้ เป็นฝ่ายชนะ

          ที่กล่าวว่าสมัยก่อน เพราะสมัยนี้เด็กๆ ไม่รู้จักการเล่น วิ่งเปี้ยว กันแล้ว ไม่รู้ว่า วิ่งเปี้ยว สะกดอย่างไรด้วยซ้ำไป

          ผู้ใหญ่หลายคนเวลาออกเสียงก็ออกเสียงถูกว่า วิ่งเปี้ยว แต่เวลาเขียนกลับเขียนไม่ถูก ไปใส่ รเรือ กลายเป็นวิ่งเปรี้ยว วิ่งมีรสอย่างมะนาวไปเสียนี่  ทั้งนี้เป็นเพราะหลายคนเข้าใจว่า เปี้ยว คือ เปรี้ยว แต่ออกเสียงคำควบกล้ำไม่ได้นั่นเอง

          วิ่งเปี้ยว  เปี้ยวคำนี้เป็นคนละคำกับ เปรี้ยว ที่หมายถึงรสอย่างมะนาว  แต่เป็นเปี้ยวคำเดียวกันกับปูชนิดหนึ่งที่เราเรียกกันว่า ปูเปี้ยวค่ะ

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  เกลือสินเธาว์


   คงไม่มีใครไม่รู้จักเกลือใช่ไหมคะ เกลือที่เรานำมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหารมีอยู่สองชนิด
ในบ้านเราคือ เกลือสมุทร และ เกลือสินเธาว์  เกลือสมุทร ก็คือเกลือที่ไ
ด้จากการตากน้ำทะเลให้ระเหย

กลายเป็นไอ จนเหลือแต่ผลึกเกลือ เกลือสมุทรมีธาตุไอโอดีนที่เป็นประโยชน์กับร่างกายมนุษย์ มักจะนำมาทำอาหารและเครื่องสำอาง
    ส่วนเกลือสินเธาว์ คือ เกลือที่ทำจากดินที่น้ำชะดินละลายแล้วแห้งปรากฏเป็นคราบเกลือติดอยู่บนผิวดิน เรียกว่า “ส่าดิน” เมื่อนำผิวดินหรือส่าดินมาละลายน้ำแล้วต้มจะได้เกลือสินเธาว์ ต่อมาได้มีการค้นพบเกลือหินที่อยู่ใต้ดินในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้รูปแบบการผลิตเกลือสินเธาว์เปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้เกลือหินแทน โดยใช้วิธีฉีดน้ำลงไปละลายเกลือในบ่อเกลือ หรือใช้วิธีสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาตากแดด หรือโดยการต้มเพื่อให้ได้ตะกอนเกลือ และหากใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยก็สามารถผลิตได้ตลอดปี 
    เกลือสินเธาว์ไม่มีธาตุไอโอดีนเหมือนเกลือทะเล จึงไม่เหมาะในการนำมาใช้ประกอบอาหาร แต่มักใช้ในการอุตสาหกรรม เพราะมีความชื้นค่อนข้างต่ำค่ะ