02-06-2559

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ราชาศัพท์พาหนะ, บ๊ะจ่าง,ของเก่า

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  ราชาศัพท์พาหนะ

การใช้คำราชาศัพท์เรียกขานยานพาหนะสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ในยุคปัจจุบัน แตกต่างไปจากในสมัยก่อน ซึ่งยานพาหนะจะมีชื่อเรียกเป็นราชาศัพท์แตกต่างกันดังนี้ ยานพาหนะประเภทมีคานหาม เคลื่อนที่โดยมีเจ้าพนักงานแบกหาม เรียกว่า พระราชยาน  ยานพาหนะประเภทมีล้อ เคลื่อนที่โดยเจ้าพนักงานฉุดชักหน้าหลัง เรียกว่า ราชรถ  ส่วนยานพาหนะทางเรือ จะเรียกว่า เรือต้น ต่อมาเรียกว่า เรือพระที่นั่ง แต่ในสมัยปัจจุบันยานพาหนะมักขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์กลไกมีทั้ง รถ เรือ เครื่องบิน แต่ไม่ได้มีการกำหนดให้เรียกชื่อเป็นคำราชาศัพท์ หากแต่ให้เรียกชื่อยานพาหนะนั้น ๆตามความนิยมที่เรียกกันอยู่แล้ว เพียงแต่ให้เติมคำว่า พระที่นั่ง ลงไว้ข้างท้าย เช่น รถยนต์พระที่นั่ง  เรือยนต์พระที่นั่ง  เครื่องบินพระที่นั่ง  เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง หรือเรียกว่า ฮ.พระที่นั่งก็ได้เช่นกัน 
    ที่เติมคำว่า พระที่นั่ง ใช้เฉพาะพาหนะสำหรับพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับเจ้านายพระองค์อื่นใช้คำว่า ที่นั่ง แทนคำว่า พระที่นั่ง เช่น  รถที่นั่ง เรือที่นั่ง เครื่องบินที่นั่ง ฮ.ที่นั่ง เป็นต้น

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  บ๊ะจ่าง

คนจีนกับคนไทยมีการติดต่อค้าขายกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ครั้นสมัยกรุงศรีอยุธยาชาวจีนได้มาตั้งบ้านเรือนเพื่อทำการค้าอยู่มากทีเดียว พอถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยและแต่งงานกับผู้หญิงไทย จนมีลูกหลานสืบเชื้อสายคนไทยเชื้อสายจีนอยู่ไม่น้อยเลย จากการที่มีคนจีนมาอยู่ในเมืองไทย และได้นำพาประเพณีวัฒนธรรมของชาวจีนมาเผยแพร่ในไทยด้วย ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ประเพณีวันตรุษจีนหรือในเรื่องของอาหารการกิน  อาหารจีนที่คนไทยรู้จักกันและนิยมกันมากอย่างหนึ่ง และเมื่อถึงเทศกาลก็มีการไหว้กันด้วย นั่นคือ เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ปีนี้ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน 
        บ๊ะจ่าง เป็นชื่ออาหารคาวของจีนชนิดหนึ่ง ทำด้วยข้าวเหนียวนำมาผัดน้ำมัน มีไส้หมูเค็ม หรือหมูพะโล้ กุนเชียง ไข่แดงเค็ม กุ้งแห้ง เห็ดหอม ถั่วลิสง เม็ดบัว หรือ เกาลัด เป็นต้น นี่คือบ๊ะจ่างไส้เค็ม ถ้าเป็นไส้หวานจะใส่เผือกกวนด้วย แล้วห่อด้วยใบไผ่มัดด้วยเชือกเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม แล้วจึงต้มให้สุก 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  ของเก่า

คำ ๆ หนึ่งที่บางคนฟังแล้วรู้สึกแสลงหู ไม่อยากได้ยิน ทั้ง ๆ ที่ความหมายของคำ ๆ นี้ไม่ได้มีอะไรที่ไม่สร้างสรรค์แต่อย่างใดนะคะ คำที่กล่าวถึงนี้คือ  ของเก่า  ของเก่า แยกออกเป็นสองประเภท     ประเภทแรก คือ เป็นของโบราณ หรือ ของใช้แล้ว ในภาษากฎหมาย หมายถึง ทรัพย์ที่ผู้ค้าของเก่าเป็นอาชีพเสนอขาย แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายโดยประการอื่นอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว ทั้งนี้รวมถึงของโบราณด้วย เช่น ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้มีของเก่าที่มีคุณค่าอยู่มากมาย  หรือ เขารวบรวมของเก่าประจำตระกูลไว้จัดทำพิพิธภัณฑ์ อีกประเภทหนึ่งของคำว่า ของเก่า คือ เศษกระดาษของใช้ที่ชำรุด ขวดเปล่า และของอื่นที่อาจนำไปปรับหรือใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น เดี๋ยวนี้เขาหันไปทำอาชีพรับซื้อของเก่า เห็นว่ารายได้ดีเชียวละ คำว่า ของเก่า ถูกนำมาใช้เป็นภาษาปากในวงสนทนาที่เป็นผู้ชาย ซึ่งมักจะหมายถึง ภรรยาที่แต่งงานกันมานานหลายปี จึงมักถูกเปรียบเปรยว่าเป็นของเก่า ด้วยเหตุนี้ คำว่า ของเก่า จึงอาจเป็นเหตุให้ผู้ฟังไม่สบอารมณ์ขึ้นมาได้นั่นเอง