15-07-2559

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ชิงสุกก่อนห่าม และ ชื่ออาหารที่เขียนผิด

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ชิงสุกก่อนห่าม

สำนวนไทยมีที่มาจากที่ต่างๆ จากพฤติกรรมของคนเราบ้าง จากสัตว์บ้าง หรือ จากธรรมชาติ ซึ่งคนไทยในสมัยโบราณมีความช่างสังเกต เมื่อได้เห็นพฤติกรรม หรือ ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ จะนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาเปรียบเทียบผูกเป็นสำนวนขึ้นมา เช่น เห็นความเปลี่ยนแปลงของผลไม้ คือ มะม่วง ก็นำมาผูกเป็นสำนวนว่า ชิงสุกก่อนห่ามใช้ในความหมายว่า ด่วนทำอะไรที่ยังไม่ถึงเวลา มักหมายถึงการลักลอบได้เสียกันก่อนแต่งงาน สำนวนนี้นำเอามะม่วงมาเปรียบ ตามธรรมชาติของผลไม้ จะห่ามเสียก่อนสุก แต่มะม่วงที่อยู่บนต้นแล้วถูกแดดส่องอยู่เป็นเวลานานๆ ทำให้ผิวเหลืองเร็ว คนเข้าใจว่าสุกแล้วกินได้แล้ว เมื่อเก็บมากินจึงได้รู้ว่า มะม่วงนั้นสุกแดด ยังไม่ทันห่ามด้วยซ้ำจึงกินไม่อร่อย เมื่อนำมาใช้กับคน ชิงสุกก่อนห่าม จึงใช้ในความหมายเชิงติเตียน

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ชื่ออาหารที่เขียนผิด

ในยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาหารนอกบ้านจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทำให้มีร้านขายอาหารอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นร้านประเภทที่ตั้งอยู่เป็นหลักแหล่ง หรือร้านประเภทรถเข็น ขายอาหารตามสั่งหรือข้าวแกงก็ตามที ถ้าเป็นร้านขายอาหารประเภทอยู่กับที่ ก็จะมีรายการอาหารที่เรียกกันติดปากว่า เมนู ซึ่งทำเป็นเล่มบ้าง หรือ เขียนติดอยู่ที่ฝาผนัง ส่วนถ้าเป็นร้านรถเข็น ก็จะมีป้ายชื่ออาหารแขวนอยู่ตามหลังคารถเข็น แล้วท่านผู้อ่านเคยสังเกตบ้างไหมว่า รายชื่ออาหารชนิดต่างๆ บางชื่อก็เขียนผิด ที่เห็นว่าผิดอยู่เป็นประจำคือ ผัดกะเพรา ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ พะโล้ ซุบหน่อไม้ เป็นต้น ที่กล่าวว่าเขียนผิด ผิดเพราะ คำว่า กะเพรา มักจะเขียนเป็น กระเพรา ก๋วยเตี๋ยว ไม่ใช่ก๊วยเตี๋ยว กวยจั๊บ ไม่ใช่ก๋วยจั๊บ พะโล้ ไม่ใช่ พะโล้ว ซุบหน่อไม้ คำว่า ซุบ เป็นภาษาถิ่นอีสาน ไม่ใช่ ซุปที่มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Soup แกงมัสมั่น ก็ไม่ใช่ มัสหมั่น ส่วน หมูสร่ง หรือ สร่ง ซึ่งเป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งทำด้วยหมูสับคลุกกับรากผักชี พริกไทย น้ำปลา ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ พันด้วยเส้นหมี่สั้วลวก แล้วทอดให้เหลืองนวล รับประทานกับน้ำจิ้ม สร่ง ไม่ใช่ โสร่ง และ ขนมหวานอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นสีเขียว สีชมพู และสีขาว เวลารับประทานก็ใส่น้ำเชื่อม น้ำกะทิ และน้ำแข็ง ขนมชนิดนี้คือ ซาหริ่ม หรือ ซ่าหริ่ม ไม่ใช่สะหริ่ม หรือสลิ่ม อย่างที่ชอบเรียกๆกันค่ะ