02-09-2559

วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม "วันหมดอายุ"

คุณผู้ฟังคะ ในสังคมปัจจุบันที่ผู้คนเร่งรีบ ทำงานกันอย่างขะมักเขม้นชนิดที่ไม่ลืมหูลืมตา จนบางครั้งอาจหลงหยิบอาหารเข้าปากแบบไม่ทันอ่านฉลาก แล้วจึงพบว่าอาหารนั้นหมดอายุไปแล้ว หรือบางคนกินเพราะเห็นว่าหน้าตาอาหารยังดูดี ไม่มีทีท่าว่าจะบูดเสีย แต่ใครจะรู้บ้างว่า อาหารหมดอายุ จริงๆ แล้ว กินต่อได้ไหม...หรือทิ้งไปดีกว่า วันนี้สารคดีสั้นมีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ ตามประกาศของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหมดอายุ ซึ่งหมายถึงวันที่แสดง การสิ้นสุดของคุณภาพของอาหารภายใต้เงื่อนไขการเก็บรักษาที่ระบุไว้ และเมื่อเลยจากวันที่ระบุไว้ อาหารนั้นจะวางจําหน่ายไม่ได้ อย่างที่สองคือ กลุ่มควรบริโภคก่อน ซึ่งหมายถึงวันที่แสดง การสิ้นสุดของช่วงเวลาที่อาหารนั้นยังคงคุณภาพดี ภายใต้เงื่อนไขการเก็บรักษาที่ระบุไว้ โดยสำหรับอาหารที่บังคับใช้คำว่า “ควรบริโภคก่อน” นั้นส่วนมากเป็นอาหารประเภทพร้อมกิน เช่น ขนม เครื่องดื่ม หรือก็คืออาหารที่สามารถกินต่อได้ในระยะหนึ่งหลังจากถึงวันที่ระบุแล้ว ไม่เป็นอันตราย แต่มีรสชาติที่ผิดเพี้ยนไป รวมทั้งคุณค่าทางโภชนาการลดน้อยลง ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคที่ต้องพิจารณาด้วยตัวเองว่าควรจะเก็บไว้อีกนานเท่าใด ซึ่งในมุมมองของนักโภชนาการไม่แนะนำให้รับประทาน “อาหารที่หมดอายุ” แล้ว แต่จะแนะนำให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย 3 วิธีคือ 1.ก่อนซื้ออาหารทุกครั้งต้องอ่านฉลาก “วันหมดอายุ” หรือฉลาก “ควรบริโภคก่อน” 2.วางแผนการซื้ออาหารในปริมาณที่เราสามารถบริโภคหมดก่อนวันที่ฉลากกำหนด และ 3.พยายามนำอาหารที่ซื้อเก็บไว้มาตรวจเช็คฉลากว่าใกล้หมดอายุหรือยัง หากใกล้หมดแล้วควรรีบนำมาปรุงรับประทานก่อนที่จะหมดอายุ ถ้าเราปฏิบัติได้ตามนี้จะเป็นการ “ไม่เพิ่มขยะอาหาร” และ “ปลอดภัยต่อสุขภาพ” นั่นเองค่ะ