14-11-2559

ภาษาไทยใช้ให้ถูก สุกปากตะกร้อ,จุลภาค

ภาษาไทยใช้ให้ถูก  สุกปากตะกร้อ

ไม้ผลที่นิยมปลูกกันตามบ้านเรือนส่วนใหญ่หนีไม่พ้นต้นมะม่วง ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงมันพันธุ์เขียวเสวยหรือมะม่วงเปรี้ยวซึ่งเมื่อสุกแล้วหวานหอมเช่น พันธุ์น้ำดอกไม้ แต่ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงมันหรือมะม่วงเปรี้ยวก็ตาม เมื่อแก่จัดและสุก ก็จะมีรสหวาน บางชนิดก็มีรสเปรี้ยวอมหวาน บางชนิดก็หวานสนิทไม่มีรสเปรี้ยวเลย บ้านใดที่ปลูกมะม่วงเมื่อมะม่วงแก่แล้วก็มักจะสอยลงมาบ่ม แต่บางทีก็ปล่อยทิ้งไว้บนต้นจนกระทั่งเริ่มสุกแล้วจึงสอยลงมาด้วยตะกร้อสอยผลไม้ มะม่วงสุกที่ถูกสอยลงมาด้วยตะกร้อ จึงเรียกว่า สุกปากตะกร้อ

มะม่วงสุกปากตะกร้อ คือ มะม่วงที่เพิ่งจะสุกอยู่ในระยะที่เรียกว่า ห่าม นั่นเอง วิธีสังเกตคือ มะม่วง

ผลนั้นที่ก้นจะมีสีเหลืองอ่อนๆ หรือ เหลืองนิดๆ  มะม่วงสุกในระยะนี้ ถ้าเป็นมะม่วงมันจะมีเนื้อหวานกรอบอร่อย แต่ถ้าเป็นมะม่วงเปรี้ยว จะยังคงมีรสเปรี้ยวอยู่เล็กน้อย

คำว่า สุกปากตะกร้อ เราจะใช้กับมะม่วง ผลไม้ชนิดอื่นไม่นิยมเรียกว่า สุกปากตะกร้อค่ะ

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก 

เครื่องหมายวรรคตอนอย่างหนึ่งที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนตัวลูกน้ำจนกระทั่งเราเรียกกันติดปากว่าจุดลูกน้ำ มีชื่อเรียกที่เป็นทางการว่า จุลภาค ภาษาอังกฤษเรียกว่า Comma ท่านผู้อ่านบางท่านอาจงง ๆ อยู่ว่า ในภาษาไทยมีการใช้เครื่องหมาย จุลภาค กันด้วยหรือ บ้างก็ว่า จุลภาคเขาใช้กันเฉพาะในภาษาอังกฤษ ภาษาไทยไม่ใช้กันหรอก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ยังคลาดเคลื่อน เพราะภาษาไทยก็ใช้ จุลภาคได้ เช่น การเขียนตัวเลขตั้งแต่หลักพันขึ้นไป เราจะใช้จุลภาคคั่น โดยนับจากหลักหน่วยไปทีละ 3 หลัก เช่น 1,000     2,000,000

นอกจากนี้ในภาษาไทยก็ยังมีการใช้จุลภาคได้อย่างถูกต้อง เช่น ใช้แยกวลีหรืออนุประโยคเพื่อกันความสับสน  ใช้คั่นรายการหรือจำนวนเลขที่เขียนต่อ ๆ กัน ตั้งแต่ 3 รายการขึ้นไป โดยเขียนคั่นแต่ละรายการเช่น สินค้าราคาควบคุม ได้แก่ ข้าวสาร, น้ำตาลทราย, น้ำมันพืช และผงซักฟอก 

จุลภาคใช้ในการเขียนบรรณานุกรม ดรรชนี นามานุกรม เป็นต้น ใช้คั่นเมื่อมีการสับที่กัน ระหว่างนามสกุลกับชื่อ เช่น ปาสเตอร์, หลุยส์  หรือ ใช้คั่นเมื่อมีการสับที่กันระหว่างชื่อ นามสกุล กับคำนำหน้านาม หรือยศ     และระหว่างราชทินนามกับบรรดาศักดิ์ เป็นต้น เช่น ธรรมโกศาจารย์, พระ อย่างนี้เป็นต้น