16-06-2560

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก เมนู

เวลาที่ท่านไปนั่งรับประทานอาหารตามร้านอาหารตามสั่ง บริกรหรือพนักงานเสิร์ฟจะนำรายการอาหารมาให้เราเลือกว่าจะสั่งอาหารอะไรบ้าง รายการอาหารนี้นับรวมไปถึงเครื่องดื่มด้วย บางร้านก็จะทำอย่างสวยงามมีภาพประกอบซึ่งมักจะเป็นร้านอาหารที่ค่อนข้างมีราคาแพง แต่บางร้านก็เป็นเพียงกระดาษขนาด A 4 เคลือบพลาสติก มีแต่ตัวหนังสือรายการอาหารและเครื่องดื่ม ไม่มีภาพอาหารประกอบแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม รายการอาหารที่กล่าวถึงนี้ ปัจจุบันเรามักจะเรียกกันจนติดปากว่า เมนู เช่น น้อง ๆ จะสั่งอาหารขอเมนูหน่อยค่ะ หรือ โต๊ะโน้นอยากได้เมนูเอาไปให้เขาหน่อย

เมนู คำนี้เรารับมาจากภาษาอังกฤษ Menu และออกเสียงแบบไทย ๆ ว่า เมนู ซึ่งคำว่าเมนูนี้ นอกจากจะหมายถึง รายการอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ยังหมายถึง รายการคำสั่งต่างๆในคอมพิวเตอร์หรือในโทรศัพท์มือถือสำหรับเลือกสั่งให้เครื่องทำงาน เช่น เป้ช่วยเปลี่ยนเมนูในมือถือเป็นภาษาไทยให้หน่อยนะ หรือ เธอจะให้ตั้งเมนูในคอมพิวเตอร์เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ อย่างนี้เป็นต้น

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ตักบาตรอย่าถามพระ

“นี่เธอเวลาจะให้อะไรใครก็ให้เขาไปเถอะ อย่ามัวแต่ถามอยู่เลยว่าเอาไหม ๆ เคยได้ยินไหม ตักบาตรอย่าถามพระน่ะ” วันนี้มีสำนวนมาฝากกันอีกแล้วค่ะ สำนวนนี้ก็คือ ตักบาตรอย่าถามพระ ความหมายก็คือจะให้อะไรสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ผู้ใด ในเมื่อผู้นั้นเต็มใจรับอยู่แล้วไม่ต้องไปถามว่าจะเอาหรือไม่เอา เมื่อจะให้ก็ให้ สำนวนนี้นำเอาพระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาตมาเปรียบ คือ การออกบิณฑบาตก็ประสงค์ให้คนใส่บาตร เมื่อจะใส่บาตรแล้วจึงไม่ต้องถามอีก เตรียมอาหารอะไรมาก็ใส่บาตรได้เลย เพราะพระสงฆ์ในสมัยก่อนจะถือพระธรรมวินัยเคร่งครัดมากว่า อย่ายึดติดกับรสชาติ เขาเลยห้ามถามจึงนำมาตั้งเป็นสำนวน ตัวอย่างเช่น ไม่ต้องไปถามพระท่านหรอกว่าจะใส่บาตรด้วยขาหมูพะโล้ท่านจะฉันได้ไหม โบราณเขาห้ามไว้ว่า ตักบาตรอย่าถามพระ ถ้าท่านฉันไม่ได้ท่านก็ไม่ฉันก็เท่านั้นเอง เป็นต้น

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก เชื่อน้ำมนต์

เชื่อน้ำมนต์ คำนี้เป็นสำนวนที่มีที่มาจากการใช้น้ำมนต์ทางลัทธิไสยศาสตร์ให้เกิดผลดีต่าง ๆ เช่น รดน้ำมนต์หรือกินน้ำมนต์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือสะเดาะเคราะห์ร้ายให้กลายเป็นดี ประหรือพรมน้ำมนต์ให้เกิดสวัสดิมงคล เป็นต้น การใช้น้ำมนต์ดังกล่าวเกิดจากความเชื่อ ซึ่งเรียกว่า เชื่อน้ำมนต์ คำนี้เลยนำมาใช้เป็นสำนวนหมายถึง ความเชื่อหรือความนับถือในคำพูดหรือการกระทำว่าพูดจริงทำจริง ไม่พลิก- แพลงกลับกลาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากไม่เชื่อ ไม่นับถือก็จะว่า ไม่เชื่อน้ำมนต์

สมัยก่อนนี้คนในยุคนั้นให้ความเชื่อถือศรัทธาน้ำมนต์จากพระเกจิอาจารย์กันมาก ยามจะรบทัพจับศึก บรรดาแม่ทัพนายกองหรือทหารทั้งหลายก็ยังต้องพึ่งน้ำมนต์เพราะเชื่อว่า น้ำมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์จะช่วยให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวงได้ แม้ในยุคปัจจุบันคนไทยก็ยังให้ความเชื่อถือศรัทธาในน้ำมนต์กันอยู่ไม่น้อย จะเห็นได้ว่าหลังจากที่พระท่านเจริญพระพุทธมนต์แล้วก็จะมีการประพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริ-มงคลนั่นเอง