07-08-2560

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก คว่ำ

ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยิน หรือเคยเล่นเกมเล่นคำกันมาบ้างแล้วนะคะ เกมเล่นคำที่เป็นที่นิยมเล่นกันมากและเรียกเสียงฮากันได้ดี ก็คือ ชามเขียวคว่ำเช้า ชามขาวคว่ำค่ำ แล้วผู้เล่นก็จะเกิดอาการลิ้นพันกันออกเสียงผิดๆถูกๆ ซ้ำร้ายบางคนออกเสียงคำว่า คว่ำ ไม่ได้ ออกเป็นเสียง ฟั่น แทนที่จะเป็น คว่ำ คว่ำ เป็นคำกริยา หมายถึง พลิกเอาด้านบนลงล่าง เช่น รถคว่ำ เรือคว่ำ หมายถึง กิริยาที่เอาด้านหน้าลง เช่น นอนคว่ำ หรือ กิริยาที่เอาด้านบนลงล่าง เช่น คว่ำชาม นอกจากนี้ คว่ำ ยังใช้เรียกใบหน้าที่แสดงอาการไม่พอใจ หรือโกรธจนไม่เงยหน้าขึ้นมองดูว่า หน้าคว่ำ และ คว่ำยังใช้หมายถึง ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ เช่น คว่ำคู่ต่อสู้

คว่ำ ใช้เป็นคำประกอบกับคำนามอื่น เช่น คว่ำกระดาน มีความหมายว่า อาการที่ฝ่ายซึ่งเห็นว่าตนกำลังจะแพ้ในการเล่นหมากรุก จึงพาลล้มกระดานเลิกเล่นกัน โดยแกล้งปัดตัวหมากรุกบนกระดานให้กระจัดกระจายหรือเทตัวหมากรุกบนกระดานเป็นต้น โดยปริยายหมายถึง การที่ฝ่ายมีอำนาจล้มเลิกการประชุมหรือกิจการใดๆ เสียกลางคัน เช่น พอเห็นว่าพรรคพวกของตนจะแพ้ประมูล เขาในฐานะที่เป็นประธานจึงสั่งคว่ำกระดานเสียเลย คว่ำกระดาน ใช้ว่า ล้มกระดานก็ได้เช่นกัน

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ดำหัว

ประเพณีอย่างหนึ่งของทางภาคเหนือซึ่งท่านผู้อ่านคงจะรู้จักหรือเคยได้เข้าร่วมประเพณีนี้กันมาแล้ว ประเพณีที่กล่าวถึงนี้คือ ดำหัว ซึ่งเป็นประเพณีซึ่งกระทำในวันสงกรานต์ของชาวเหนือเพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือ วิธีดำหัว คือ เอาน้ำสะอาด พร้อมดอกคำฝอย ฝักส้มป่อย และผงขมิ้น ใส่ขัน ไปเคารพและขอขมาผู้ใหญ่ โดยให้ท่านจุ่มน้ำลูบศีรษะตนเองเพื่อให้ท่านอยู่เย็นเป็นสุขและขอรับพรจากท่าน

ประเพณีดำหัว ไม่ได้เป็นเพียงการชำระสิ่งไม่ดีออกไปเท่านั้น แต่ยังมีความหมายดีๆแฝงอยู่ นั่นคือ การแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อย และเพื่อขอโทษขออภัยในปีที่ผ่านมา ที่ผู้น้อยอาจจะเคยล่วงเกินผู้ใหญ่ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งที่ตั้งใจ หรือไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะ ต่อหน้า หรือลับหลัง รวมถึงเป็นการขอพรจากผู้อาวุโสเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองตลอดปีอีกด้วย

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก พันทาง

ท่านผู้อ่านคงรู้จักสุนัขพันทางกันดีแล้ว หลายคนก็นำมาล้อกันเล่นว่า สุนัขพันธุ์ Thousand way สุนัขพันทางหาดูได้ไม่ยาก ตามท้องถนน ตรอกซอกซอย เป็นสุนัขที่เจ้าของไม่เลี้ยงแล้ว หรือที่เราเรียกว่า หมาจรจัด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสุนัขพันทางนี่เอง

คำว่า พันทาง ที่เรานำมาเรียกชื่อสุนัข ว่าสุนัขพันทางนั้น หลายคนยังเข้าใจว่าคือ พันธุ์ ที่แปลว่า พวกพ้อง เชื้อสาย หรือ เทือกเถา เหล่ากอ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง พันทาง แต่ดั้งเดิม เราใช้เรียกไก่ที่พ่อเป็น อู แม่เป็น แจ้ ว่าไก่พันทาง ภายหลังเรานำมาเรียกสัตว์อื่นที่พ่อแม่ต่างพันธุ์กัน จนถึงสิ่งต่างชนิดบางอย่างที่แกมกันหรือไม่เข้าชุดกัน เช่น สุนัขพันทาง เครื่องลายครามพันทาง ค่ะ