13-09-2560

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก โขกสับ

“เธอทนเป็นคนรับใช้ให้เขาโขกสับอยู่ได้ยังไงเป็นปีๆ” หรือ “ฉันไม่ใช่เมียทาสนะที่จะยอมให้คุณ และญาติพี่น้องคุณมาโขกสับ” ประโยคทั้งสองที่ยกมานี้ไม่ได้มาจากนวนิยายหรือละครทีวีเรื่องใด แต่เป็น เพียงตัวอย่างที่ยกมาประกอบคำอธิบายคำว่า โขกสับ ซึ่งเป็นคำกริยา มาจากคำว่า โขก และ สับ

ประสมกัน โขก เป็นอาการคว่ำสิ่งที่แข็งกระแทกลงกับพื้นอย่างแรง หรือ กิริยาที่คว่ำหน้าลงแล้วเอา หน้าผากกระแทกพื้น เป็นต้น เช่น เขาเอากะละมังโขกกับอ่างล้างจานเพื่อให้เศษข้าวหลุดออก หรือเอา หน้าผากโขกพื้น

ส่วนสับ เป็นอาการเอามีดโต้ มีดปังตอ หรือ ขวานฟันสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแรง เช่น เขาใช้มีดปังตอสับกระดูกหมูเป็นสองสามท่อน หรือ วันนี้แม่ให้เราสับหมูไว้ทำแกงจืดมะระยัดไส้ เมื่อ โขก กับ สับ มาประสมกัน เป็นโขกสับ จะมีความหมายว่า ดุด่า ข่มขี่ เสียดสี กลั่นแกล้งให้เจ็บ ใจอยู่เสมอ

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ง่องแง่ง ง่อนแง่น

การออกเสียงผิด ย่อมทำให้ผิดความหมาย แม้บางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่เราก็ควรจะต้องระมัดระวังพยายามไม่ออกเสียงผิด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นสื่อทำหน้าที่ส่งสารไปถึงผู้ฟังผู้ชมหรือผู้อ่าน ถ้าใช้ ภาษาไทยผิดพลาด ผู้ที่ไม่รู้มาก่อนก็จะจดจำไปอย่างผิดๆ แต่ผู้ที่รู้ก็จะตำหนิเอาได้นะคะ คำไทยบาง คำสะกด คล้ายกัน แต่ความหมายต่างกัน ถ้าออกเสียงผิดก็ผิดความหมาย เช่น คำว่า ง่องแง่ง กับ ง่อนแง่น ง่องแง่ง เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง อาการที่ร่างกายไม่แข็งแรงทำให้เดินหรือเคลื่อนไหวไม่ถนัด เช่น ผู้ชายคนนี้อายุก็ยังไม่เท่าไร แต่สังขารง่องแง่งเต็มทน ใช้ว่า กระง่องกระแง่ง ก็ได้ค่ะ ง่องแง่ง เมื่อเป็น คำกริยา หมายถึง ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ปรองดองกัน เช่น สองคนนี้เป็นยังไงนะ เจอหน้ากันเป็นง่องแง่ง ทุกทีสิน่า

ส่วนคำว่า ง่อนแง่น เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง คลอนแคลน ไม่แน่น ไม่มั่นคง เช่น ฐานะของ ครอบครัวเขาตอนนี้ง่อนแง่นเต็มที ไม่รู้ว่าวันใดบ้านจะหลุดจำนอง ง่อนแง่น ใช้ว่า กระง่อนกระแง่นได้ เช่นกัน

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก บาร์โคด

ในยุคปัจจุบันนี้เวลาที่ท่านไปจับจ่ายซื้อข้าวของในห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาเก็ต ถึงตอนที่ จะต้องจ่ายเงิน พนักงานคิดเงินหรือที่เรามักเรียกกันว่า แคชเชียร์ ก็จะเอาสินค้าไปใช้เครื่องส่องที่ป้ายที่มีลักษณะเป็นเส้นสั้นๆ หนาบ้างบางบ้าง เรียงขนานกันห่างบ้างชิดบ้าง ซึ่งพิมพ์อยู่บนวัสดุหรือสินค้านั้นๆ เจ้าป้ายที่ว่านี้มีชื่อเรียกว่า บาร์โคด มีไว้เพื่อบอกข้อมูลต่างๆ เช่น ราคา ประเภทสินค้า ที่อยู่ของบุคคล เมื่อนำเครื่องไปสแกนบาร์โคด เครื่องนี้จะอ่านข้อมูลต่างๆ พนักงานก็จะคิดราคาสินค้าได้ถูกต้องและ รวดเร็ว การที่ใช้เครื่องอ่านบาร์โคด เราเรียกว่า สแกนบาร์โคด หรือ ภาษาปากก็มักเรียกว่ายิงบาร์โคด คำว่า บาร์โคด มาจากภาษาอังกฤษว่า BARCODE เขียนบาร์โคด แต่ออกเสียงว่า บาโค้ด ค่ะ