12-02-2561

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ไม่เป็นสับปะรด

ไม่เป็นสับปะรด ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินได้ฟัง หรือ เคยพูดเองกันมาบ้างแล้วเมื่อเวลาเห็นใครทำอะไรไม่เข้าท่าเข้าทาง ซึ่งคำนี้ใช้ได้กับหลายสิ่งอย่าง เช่น หนังเรื่องนี้ไม่เป็นสับปะรดไม่น่าเสียเวลามาดูเลยหรือฝีมือทำอาหารไม่เป็นสับปะรดอย่างนี้ยังคิดจะเปิดร้านขายอาหารอยู่อีกหรือ ไม่เป็นสับปะรดในประโยคแรกที่พูดเกี่ยวกับหนังหรือภาพยนตร์ หมายถึงว่า หนังไม่สนุก หนังมีเนื้อหาไม่ดี การถ่ายทำไม่ดีหรือนักแสดงไม่ดี รวม ๆ กันแล้ว ไม่เป็นสับปะรด

ส่วนไม่เป็นสับปะรดในประโยคที่สอง คือ เรื่องการทำอาหารไม่เป็นสับปะรด ก็คือ ทำอาหารไม่อร่อยไม่น่ากิน เขียนหนังสือไม่เป็นสับปะรด ก็คือ เขียนหนังสือไม่ดี ภาษาไม่สละสลวย อย่างนี้เป็นต้น ทำไมจึงเป็น ไม่เป็นสับปะรด สันนิษฐานกันว่า น่าจะมาจากคำว่า ไม่เป็นสรรพรส สรรพ (สัพพะ) หมายถึง ทุกสิ่ง ทั้งปวง หรือ ทั้งหมด ไม่เป็นสรรพรส คือ ไม่เป็นรสอะไรเลย แต่เรียกกันไปเรียกกันมาก็ผิดเพี้ยนไปเป็น ไม่เป็นสับปะรด คำว่า ไม่เป็นสับปะรด ยังมีบางคนเขียนเป็น สับปะรส หรือ สัปรส ซึ่งไม่ถูกต้องค่ะ

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก บุฟเฟต์

สมัยนี้เวลามีการจัดงานเลี้ยงไม่ว่าจะงานสังสรรค์ปีใหม่ งานแต่งงาน งานชุมนุมศิษย์เก่า หรือ งานเลี้ยงเกษียณอายุราชการ เจ้าภาพมักจะจัดอาหารไว้แบบที่เราเรียกกันว่า บุฟเฟต์ คือ เป็นลักษณะที่จัดอาหารไว้เป็นส่วนกลาง ผู้รับประทานเลือกตักอาหารตามใจชอบมารับประทานเอง

คำว่า บุฟเฟต์ เป็นคำที่เรารับมาจากภาษาฝรั่งเศส BUFFET เรารับมาใช้ในภาษาไทยในรูปแบบของคำทับศัพท์ นอกจากจะมีความหมายว่า การจัดอาหารไว้เป็นส่วนกลาง ผู้รับประทานเลือกตักอาหารมารับประทานเองแล้วยังมีความหมายอื่นอีก คือ หมายถึง รูปแบบการขายอาหารที่คิดราคาเป็นรายหัว โดยผู้ซื้อสามารถเลือกอาหารรับประทานได้มากตามต้องการ และ รายการส่งเสริมการขายประเภทหนึ่งของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยคิดเหมาค่าบริการในเวลาที่กำหนด

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ลอยชาย

สมัยโบราณไม่ว่าหญิงหรือชาย มักจะนุ่งผ้าโจงกระเบน ซึ่งการนุ่งผ้าโจงกระเบนนี้จะมีทั้งแบบนุ่งม้วนชายโจงกระเบน และแบบที่นุ่งปล่อยชายลงไปไม่โจงกระเบน ลักษณะนี้เราเรียกว่านุ่งลอยชาย มักจะเป็นแต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงจะไม่มีใครนุ่งผ้าลอยชาย การนุ่งโจงกระเบนถือกันว่าเป็นการนุ่งอย่างสุภาพ ส่วนนุ่งลอยชายเป็นการนุ่งตามสบายเหมือนอย่างอยู่กับบ้าน แต่ถ้าต้องออกนอกบ้านไปยังที่ต่าง ๆ หรือไปพบผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะต้องนุ่งโจงกระเบนให้สุภาพเรียบร้อย การนุ่งผ้าลอยชายนี้เองได้มีการนำเอามาใช้เป็นสำนวนว่า ลอยชาย

มีความหมายว่า ทำตามสบายใจ ทำตามชอบใจ ทำอย่างเป็นอิสระ ถือดีไม่เคารพคารวะ หรือ มีท่าทางกรีดกราย

การนุ่งผ้าลอยชายเป็นการทำตามสบายและยิ่งไม่แย่แสต่ออะไรจะพบผู้ใหญ่หรือเข้าไปในสถานที่ใดก็คงปล่อยลอยชายอยู่ จึงเท่ากับเป็นการแสดงว่าถือดี ถืออิสระ ทำตามใจตัว คำว่า ลอยชาย จึงมาเป็นสำนวน หมายถึง การกระทำอย่างเป็นอิสระแก่ตนเอง หมายความตลอดไปถึงไว้ท่าภาคภูมิทำทีใหญ่โตท่าทางกรีดกราย เป็นต้น*

*หมายเหตุ อ้างอิงจากสำนวนไทย โดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)