01-04-2562

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก หมาร่า

มีเรื่องของแมลงจำพวกต่อชนิดหนึ่งมาบอกเล่าให้ทราบกันค่ะ แมลงชนิดนี้ คือ หมาร่า หลาย ๆคนคงเคยเห็นเจ้าหมาร่ากันมาแล้ว เห็นตัวมันบ้าง หรือ รังของมันบ้าง แต่อาจไม่รู้จักว่ามันคือแมลงชนิดใด หมาร่าจะทำรังด้วยการใช้ดินเหนียว มีขนาดเท่ากำปั้นหรือเล็กกว่าติดตามกิ่งไม้หรือตามที่อยู่อาศัยของคน ในรังของหมาร่าจะมีหนอนหรือแมลงลำตัวอ่อนนุ่มที่ถูกมันต่อยจนเป็นอัมพาตเพื่อเก็บไว้เป็นอาหารของตัวอ่อนของพวกมันเอง หมาร่า เวลาออกเสียงต้องออกให้ถูกนะคะ มิเช่นนั้นจะไปพ้องกับคำว่า หมาล่า ซึ่งเป็นของกินที่เป็นอาหารจีนเสฉวน หมาล่านี้ บ้างก็ออกเสียงเป็น หม่าล่า ก็มีค่ะ หมาร่า เป็นแมลง แต่ หมาล่า หรือ หม่าล่า เป็นของกินค่ะ ออกเสียงให้ถูกต้องนะคะ จะได้ไม่สับสนกันค่ะ

 

 

 

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ปอด

ปอด เป็นอวัยวะทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจอยู่ภายในร่างกายของคนหรือสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเป็นส่วนมาก ปอด ถูกนำมาเป็นสำนวนไทย มีความหมายว่า ใจเสีย ใจคอไม่ดี รู้สึกหวาดหวั่นครั่นคร้าม สำนวนนี้เกิดเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 คือ คราวหนึ่งเกิดความไข้ มีอาการเป็นหวัดและเป็นไข้บางคนตาย ไข้นี้คือที่ต่อมาเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่ และที่ตายนั้นเป็นเพราะปอดบวม

สมัยนั้น เรายังไม่รู้จักไข้หวัดใหญ่เหมือนปัจจุบัน รู้เพียงว่าเป็นไข้หวัดและเห็นเป็นของธรรมดาเป็น 2-3 วันก็หายไม่ระวังตัวก็เลยกลายเป็นปอดบวม สมัยนั้นมีหมอฝรั่งแล้ว แต่ความนิยมรักษาอย่างฝรั่งยังมีน้อย ส่วนมากเราไม่ได้รักษาแบบฝรั่ง คนเป็นไข้หวัดคราวนั้น หมอฝรั่งว่าเป็นปอดบวม เราก็เริ่มรู้จักคำว่าปอดบวมกันขึ้น จากนั้นใครเห็นไข้หวัด ก็ระแวงว่าจะเป็นปอดบวม พอพูดว่าปอดบวมก็ใจเสียเพราะตายง่าย คำว่า ปอด ซึ่งมาจากปอดบวมเลยเกิดเป็นสำนวนใช้กันขึ้น หมายความว่า ใจเสียใจคอไม่ดี รู้สึกหวาดหวั่นครั่นคร้าม พูดว่าใครปอด ก็หมายความว่า คนนั้นกลัว เช่น ชวนไปเล่นบันจี้จั๊มพ์ ก็ไม่เอา ท่าทางจะปอดนะนี่ หรือ อย่าปอดไปหน่อยเลย แค่นี้ไม่ถึงตายหรอกนอกจากนี้ยังมีภาษาปากว่า ปอดลอย หมายความว่า ใจไม่สู้ดีชักจะหวาดๆ นั่นเอง

 

 

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก แกงบวด บวชชี

ท่านผู้อ่านคงจะรู้จักขนมหวานอย่างหนึ่งที่ใช้กะทิเป็นส่วนประกอบ ขนมหวานชนิดนี้คือ แกงบวด แม้จะชื่อว่า แกง แต่ไม่ใช่แกงซึ่งมักจะเป็นของคาว แต่แกงบวดเป็นของหวานที่ใช้พืชพวกเผือก มัน ฟักทอง เป็นต้น ต้มกับน้ำตาลและกะทิ น้ำตาลที่ใช้โดยมากใช้น้ำตาลมะพร้าว หรือ น้ำตาลโตนด มีบ้างที่ใช้น้ำตาลทรายผสมลงไปด้วย ทั้งนี้แล้วแต่สูตรของใครก็ของคนนั้น แต่เท่าที่เคยเห็นผู้ใหญ่สมัยก่อนเขาก็จะใช้น้ำตาลมะพร้าว หรือ น้ำตาลโตนดเท่านั้น แต่มีแกงบวดอีกอย่างหนึ่ง ใช้กล้วย น้ำว้า หรือ กล้วยไข่ ก็ได้ ต้มกับน้ำกะทิและน้ำตาล เราเรียกว่า กล้วยบวชชี และ คำว่าบวชในที่นี้ เราใช้ ช แทน ด นะคะ ที่เรียกว่า กล้วยบวชชี เพราะสมัยก่อนนี้กล้วยบวชชีใช้น้ำตาลทราย และเกลือเล็กน้อย น้ำแกงกะทิจึงมีสีขาวเหมือนแม่ชีที่นุ่งขาวห่มขาวไม่ออกเหลืองเหมือนแกงบวดที่ใส่น้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลโตนด แต่ปัจจุบันนี้มีผู้คิดสูตรกล้วยบวชชีใหม่โดยใช้น้ำตาล มะพร้าวผสมลงไปด้วยค่ะ