19-08-2562

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ภาษาไทยใช้ให้ถูก ฆราวาสธรรม (คะราวาด)

ฆราวาสธรรม (คะราวาดสะทำ) คำนี้ท่านผู้อ่านที่มีวัยวุฒิแล้วคงจะคุ้นกับคำนี้ได้เป็นอย่างดี แต่หากเป็นคนรุ่นใหม่อาจจะยังไม่เข้าใจนักว่า ฆราวาสธรรม คืออะไฆราวาสธรรม ประกอบขึ้นด้วยคำว่า ฆราวาส ที่แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก ผู้ครองเรือน และ คำว่า ธรรม แปลว่า ความถูกต้อง ความดีงาม นิสัยที่ดีงาม คุณสมบัติ หรือ ข้อปฏิบัติ เมื่อรวมกันเข้าแล้วจึงมีความหมายว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วย ธรรมะ 4 ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และ จาคะ

สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน

ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลดและละกิเลส และรักษาสัจจะ

ขันติ แปลว่า อดทน อดทนกับคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นที่เราไม่พอใจ อดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเลส

และ จาคะ แปลว่า เสียสละ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน โดยเฉพาะกิเลสเพราะนั่นคือสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่กับตน

ถ้าหากใครมีธรรมะของผู้ครองเรือนหรือที่เรียกว่า ฆราวาสธรรมแล้ว ชีวิตจะมีความสุขความเจริญ

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก สารประโยชน์

คำบางคำแม้จะเคยใช้เคยได้ยินในชีวิตประจำวันกันอยู่ประจำ แต่เมื่อเวลาจะต้องเขียนคำนั้น ๆ ขึ้นมาก็กลับกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันว่า จะต้องเขียนอย่างไรจึงจะถูก อย่างเช่นคำว่า สารประโยชน์ที่ผู้บรรยายต้องคอยอธิบายคนรอบข้างว่า สารประโยชน์ ตรงพยางค์ว่า สาระ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ หรือ ไม่ต้องใส่สระอะเขียนว่า สาร (สาน) ประโยชน์ แต่อ่านว่า สาระประโหยด เหตุที่เป็นดังนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า คำนี้ไม่ใช่คำไทยแท้ๆ แต่มาจากคำภาษาบาลี สันสกฤต คือ สาร ที่แปลว่า แก่น เนื้อแท้ ส่วน ประโยชน์ คือ สิ่งที่มีผลใช้ได้ดีสมกับที่คิดมุ่งหมายไว้ หรือ สิ่งที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณ เมื่อมาสมาสกันเข้าเป็น สารประโยชน์ เวลาอ่านจะอ่านเชื่อมคำคือมีเสียงอะกลางคำ แต่เวลาเขียนไม่ต้องมีสระอะ และเวลาแปลความหมาย ก็จะแปลจากด้านหลังมาด้านหน้า ดังนั้น คำว่า สารประโยชน์ จึงแปลได้ว่า ประโยชน์ที่เป็นแก่นสาร นั่นเอง

 

ภาษาไทยใช้ให้ถูก นิตยภัต

มีคำถามจากเพื่อนร่วมงานถามผู้บรรยายว่า พระผู้ใหญ่ที่มีสมณศักดิ์ ท่านมีเงินประจำตำแหน่งหรือไม่ ถามมาดังนี้จึงต้องไปหาคำตอบมาบอกกล่าวเล่าสู่กันให้ได้รู้ทั่วกัน คงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย พระผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระสังฆาธิการ พระเลขานุการ พระเปรียญธรรม 9 ประโยคเป็นต้น จะได้รับเงินอุดหนุนอุปถัมภ์ แต่เราไม่เรียกว่า เงินเดือน หรือ เงินประจำตำแหน่ง อย่างฆราวาส แต่มีคำเรียกว่า นิตยภัต

นิตยภัต นี้ยังหมายถึง อาหาร หรือ ค่าอาหารที่ถวายภิกษุสามเณรเป็นนิตย์ หรือ หมายถึง เงินงบประมาณแผ่นดินที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลเป็นประจำทุกปีเพื่อเบิกจ่ายถวาย อุดหนุนอุปถัมภ์แก่พระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์อีกด้วย

นิตยภัต คำนี้มาจากคำว่า นิตย (นิดตะยะ) ที่แปลว่า เสมอไป สม่ำเสมอ กับ ภัต (พัดตะ) ที่แปลว่า อาหาร หรือข้าว มาสมาสกัน เป็น นิตยภัต จึงหมายถึง อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายภิกษุสามเณรเป็นนิตย์ นั่นเอง