27-04-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 5 ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย

สวัสดีค่ะ วันนี้มีความรู้ดีๆ ในเรื่องพลังงานไฟฟ้ามาเล่าให้กับคุณผู้ฟังเช่นเคยนะคะ คุณผู้ฟังเคยสงสัยกันมั้ยคะว่า ไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มันมาจากไหน ใครเป็นคนผลิตมา และต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้างกว่าจะมาถึงบ้านเรือนของเรา ซึ่งกระบวนการต่างๆ ที่กว่าจะนำไฟฟ้ามาให้เราใช้งานกันนั้น คือ ระบบไฟฟ้า นั่นเอง และสำหรับระบบไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นอย่างไรนั้น วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกันค่ะ ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย สามารถแบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ผลิต ส่ง ขาย ใช้  

  1. ผลิต คือ ระบบผลิตไฟฟ้า  เป็นการจัดหาให้ได้ไฟฟ้ามาใช้นั่นเอง อาจจะเป็นการผลิตไฟฟ้าเองหรือซื้อเข้ามา โดยไฟฟ้าที่ได้..มาจากเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น..ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แสงอาทิตย์  ลม น้ำ หรือชีวมวล โดยเราจะนำเชื้อเพลิงเหล่านี้มาผลิตผ่านตัวกลาง นั่นก็คือ..โรงไฟฟ้า

แล้วใครที่ทำหน้าที่ในการผลิตไฟฟ้า?... ในอดีตมีแต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียว แต่ต่อมารัฐบาลเห็นว่าเพื่อใม่ให้เกิดการผูกขาดและให้มีการแข่งขันด้านการผลิต จึงมีนโยบายให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการผลิตและจัดหาไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น

  • กฟผ.
  • ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ Independent Power Producer: IPP
  • ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือ Small Power Producers: SPP
  • นอกจากนี้ ยังมีไฟฟ้าอีกส่วนที่เราไม่ได้ผลิตเอง แต่เรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาชนลาว และประเทศมาเลเซีย

โดยไฟฟ้าที่ได้จากผู้ผลิตเหล่านี้ ก็จะถูกนำเข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้าต่อไป

  1. ส่ง คือ ระบบส่งไฟฟ้า  เป็นตัวกลางสำคัญในการส่งพลังงานไฟฟ้าจากระบบผลิตไปยังระบบจำหน่าย โดย กฟผ. จะดำเนินการจัดส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของ กฟผ. เอง และที่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น ผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ถ้าคุณผู้ฟังสังเกต เรามักจะเห็นเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงต้นใหญ่ๆ ที่ตั้งอยู่เป็นแนวกระจายอยู่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะแตกต่างจากเสาไฟฟ้าทั่วๆ ไปที่ต่อเข้าสู่บ้านเรานะคะ เพราะมีแรงดันที่สูงมาก โดยไฟฟ้าที่เข้าสู่ระบบสายส่งของ กฟผ. ส่วนหนึ่งจะถูกส่งให้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมไปถึงผู้รับซื้อไฟฟ้าโดยตรงจาก กฟผ. และอีกส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปจำหน่ายให้ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว และประเทศมาเลเซีย
  2. ขาย คือ ระบบจำหน่ายไฟฟ้า  ประชาชนจะไม่สามารถซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. ได้โดยตรง แต่จะมี 2หน่วยงานสำคัญที่หน้าที่เหมือนเป็นพ่อค้าคนกลาง จำหน่ายไฟฟ้าให้กับพวกเราอีกที นั่นก็คือ กฟน. และ กฟภ. ที่เราพูดถึงกันเมื่อสักครู่นี้ ซึ่งผู้ฟังทุกท่านเองก็น่าจะคุ้นเคยกับ 2 หน่วยงานนี้..

จริงๆ แล้ว ทั้ง กฟน. และ กฟภ. จะทำหน้าที่เหมือนกัน คือ ขายไฟฟ้าให้กับประชาชน รวมถึงยังให้บริการในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการใช้ไฟฟ้าด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้าดับ ไฟตก หม้อแปลงระเบิด เสาไฟฟ้าล้ม บิลค่าไฟฟ้าไม่ถูกต้อง หรือการขอใช้ไฟฟ้า เป็นต้น แต่ส่วนที่แตกต่างกันของ 2 หน่วยงานนี้ก็คือ พื้นที่การให้บริการ โดย.....

  • การไฟฟ้านครหลวง ทำหน้าที่รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชน พื้นที่บริการ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ
  • ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะรับผิดชอบจำหน่ายไฟฟ้าแก่ประชาชนในจังหวัดที่เหลือ

ทีนี้ เชื่อว่าคุณผู้ฟังน่าจะสงสัยกันว่า.. ใครเป็นคนกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าขึ้นมา ผู้ที่ทำหน้าที่กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ คือ  คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่

  • กำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศให้เหมาะสม รวมถึงค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft
  • กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน ส่งเสริมให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  1. ใช้ คือ ผู้ใช้ไฟฟ้า   

คือประชาชนผู้ที่ซื้อไฟฟ้าจากระบบจำหน่าย มาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเราๆ ไม่ต้องกังวลนะคะว่าเราจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้ไฟฟ้า เพราะผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” นั่นเอง ทีนี้เราก็ได้คำตอบกันแล้วนะคะว่า ไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ได้อย่างไร ตอนต่อไปมาพบกับเรื่องราวดีๆ จาก กฟผ. กันอีกนะคะ