25-03-2558

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

ลักษณะของรส

                   ถ้าพูดถึงรสชาติของอาหารที่เรารู้จักกันดี ก็คงหนีไม่พ้น รสหวาน เค็ม เปรี้ยว เผ็ด ขม หรือ จืด ซึ่งรสเหล่านี้เมื่อมาผสมกันอย่างลงตัวแล้ว ก็จะทำให้อาหารมีรสอร่อย ที่เรียกว่า รสกลมกล่อม แต่รสที่ไม่กลมกล่อม เนื่องจากเครื่องปรุงไม่ถูกส่วน ก็อาจจะมีรสที่เรียกว่า ปร่า เช่น แกงถ้วยนี้รสชาติปร่ายังไงไม่รู้  จากรสปร่า ก็มาถึงรสกร่อย

กร่อย คือไม่จืดสนิทหรือไม่หวานสนิทเพราะมีรสเค็มเจือ เช่น ทำไมน้ำในแก้วนี้จึงมีรสกร่อยล่ะ  

ต่อมา คือ รสฝาด เป็นรสที่ทำให้ฝืดคอ น้ำลายแห้ง เช่น มะขามเทศฝักนี้ฝาดจริงๆ หรือ มะม่วงดิบทั้งเปรี้ยวทั้งฝาด ใครจะไปกินได้  

อีกรสหนึ่งเป็นรสที่ไม่อร่อยเลย คือ รสเฝื่อน เป็นรสที่เจือฝาดและขื่น เช่น น้ำบาดาลบ่อนี้มีรสเฝื่อนมาก ไม่เหมาะเอามาทำน้ำดื่มหรอก จากรสเฝื่อน มาถึงรสขื่น

รสขื่น เป็นรสที่ทำให้ฝืดคอไม่ชวนกิน เช่น หน่อไม้มีรสขื่น  ส่วนคำว่าชืด หมายถึง ไม่มีรสชาติ เช่น เนื้อสัตว์แช่ตู้เย็นไว้นานจนชืด  คำว่า ชืด ยังใช้ประกอบกับคำ จืด เป็น จืดชืด  หมายถึง จืดสนิท ไม่มีรสชาติอะไรเลยค่ะ

 

ผัดไทย

                    อาหารไทยที่สามารถหารับประทานได้ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคไหนๆ แต่ที่เป็นที่นิยมมากก็คงจะเป็นในภาคกลาง แม้ในต่างประเทศเราอาจพบอาหารชนิดนี้ได้ และมีชื่อเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยด้วย นั่นคือ ผัดไทย

                   ผัดไทย เป็นที่รู้จักของคนต่างชาติในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. ได้รณรงค์ให้ประชาชนหันมานิยมรับประทานก๋วยเตี๋ยว เพื่อลดการบริโภคข้าวภายในประเทศ แต่เพราะก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารจีน จึงได้มีการคิดค้นสูตรผัดไทยให้เป็นอาหารไทย และเปลี่ยนชื่อก๋วยเตี๋ยวผัด เป็นก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ตามชื่อใหม่ของประเทศไทย ต่อมาก็กร่อนเหลือเพียงคำว่า ผัดไทย

                   คำว่าผัดไทย มักจะพบว่าตามร้านอาหาร สะกดชื่อผัดไทย เป็น ผัดไท ไม่ถูกต้อง เพราะผัดไทย หมายถึง ก๋วยเตี๋ยวผัดของไทย ไม่ใช่ผัดไท ผัดเป็นอิสระ ไม่ขึ้นแก่ใคร

 

ลิ้นไม่มีกระดูก

                    ในยุคที่สังคมเสื่อมถอย เพราะพิษภัยจากเศรษฐกิจ และการเมืองเข้ามารุมเร้า ทำให้ผู้คนเริ่มขาดซึ่งคุณธรรม จริยธรรม  ความละอายต่อการทำผิดลดน้อยถอยลง การพูดจาใส่ร้ายกันเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้แล้ว การเป็นคนไม่รับผิดชอบกับคำพูดของตนเอง พูดจาสับปลับ เอาตัวรอดไปวันๆ ก็พบเห็นได้ง่าย ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใด ซึ่งลักษณะของคนที่พุด สับปลับ กลับกลอก พูดไม่จริง หรือ พูดไม่อยู่กับร่องกับรอย ภาษาไทยเรามีสำนวนใช้ว่า ลิ้นไม่มีกระดูกค่ะ สำนวนนี้นำเอาลักษณะของลิ้นซึ่งไม่มีกระดูก จึงสามารถพลิกกลับไปกลับมาได้มาเปรียบกับบุคคลที่พูดแล้วไม่รับผิดชอบกับคำพูด พูดแล้วบอกว่าไม่ได้พูด ว่าเป็นพวกลิ้นไม่มีกระดูก