01-11-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 53 โครงการ SolarPlus สนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้ากันเองจากพลังงานแสงอาทิตย์

      สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.” สำหรับเรื่องราวดี ๆ ในวันนี้จะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับโครงการ SolarPlus ซึ่งเป็นการสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้ากันเองจากพลังงานแสงอาทิตย์ กันนะคะ ลองมาฟังกันค่ะ

      จากปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวและหันมาใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น และในภาคการผลิตไฟฟ้าก็มีการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นเช่นกัน ประเทศไทยเองก็มีการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การติดตั้ง Solar Rooftop กันมากขึ้น อย่างไรก็ตามการติดตั้ง Solar Rooftop ต้องใช้เงินลงทุนสูง กว่าจะคืนทุนก็นาน ประชาชนที่มีความสนใจจึงลังเล บวกกับมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา การผลักดันให้ประชาชนใช้โซลาร์เซลล์จึงทำได้ในวงจำกัด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของโครงการ SolarPlus

   โดย กฟผ. จับมือ พันธมิตร 4 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เปิดตัวโครงการ SolarPlus ติดตั้งโซลาร์รูฟให้แก่ประชาชนฟรี เพื่อผลิตและขายไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในไทย พร้อมทั้งนำนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า Peer-to-Peer Energy Trading Platform เป็นสื่อกลางเชื่อมการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ติดตั้ง Solar Rooftop มุ่งพัฒนาการใช้พลังงานสะอาดในภาคที่อยู่อาศัย เดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

   โครงการ SolarPlus เป็นโครงการที่มีการติดตั้ง Solar Rooftop ให้แก่ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อผลิตและขายไฟฟ้า โดยเจ้าของบ้านไม่ต้องลงทุนติดตั้งและเสียค่าบำรุงรักษา อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการลดค่าไฟฟ้า ทั้งนี้เงื่อนไขและข้อตกลงในการจัดเก็บค่าไฟจะเป็นไปตามสัญญาการให้บริการ โดยกระแสไฟฟ้าที่เหลือใช้จากบ้านเรือนจะถูกจำหน่ายเข้าไปในระบบไฟฟ้า ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท หรือนำมาซื้อขายพลังงานผ่านแพลตฟอร์ม Peer to Peer Energy Trading ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเริ่มนำร่องโครงการแรกที่หมู่บ้านศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2 จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นโครงการที่มีลูกบ้านเข้าอยู่แล้วจำนวนมาก มีจำนวน 456 หลังคาเรือน สำหรับการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจะเลือกจากบ้านที่มีความสมัครใจ และเงื่อนไขใช้ไฟ 1,000 เมกะวัตต์หรือเสียค่าไฟเดือนละประมาณ 4,000 บาท และมีโครงสร้างหลังคาที่แข็งแรง นอกจากนี้ยังตั้งเป้าติดตั้ง Solar Rooftop ให้ได้ 500,000 หลังทั่วประเทศ ภายใน 5 ปี คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 2.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี กฟผ. และ พันธมิตรทั้ง 4 หน่วยงาน คาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยจุดกระแสให้ประชาชนทั่วไปหันมาใช้พลังงานสะอาดโดยการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ที่บ้านเรือนของตัวเอง เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

    กฟผ. นอกจากจะดำเนินภารกิจหลักในการผลิตและส่งไฟฟ้าแล้ว ยังได้มุ่งพัฒนา Solutions ใหม่ด้านนวัตกรรมพลังงาน ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าในยุคดิจิทัลควบคู่ไปด้วย โดยได้นำแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ที่พัฒนาขึ้นโดย กฟผ. มาเป็นสื่อกลางซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ติดตั้ง Solar Rooftop ในโครงการ SolarPlus เพื่อใช้ในการบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียว หวังเป็นต้นแบบของโครงการซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer Energy Trading ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมเดินหน้าการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ของประเทศ ตลอดจนเป็นผู้ให้บริการ Solutions ด้านพลังงานแบบครบวงจรในอนาคต

หวังว่าเรื่องราวในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังทุกท่าน กลับมาพบกับสาระดีๆ ได้ใหม่ในตอนหน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ