01-11-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 55 เรือไฟฟ้าสะเทินน้ำสะเทินบก

          สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.” สำหรับเรื่องราวดี ๆ ในวันนี้จะเป็นเรื่องอะไร มาติดตามกันค่ะ

          จากเป้าหมายใหญ่ที่ประเทศไทยได้มีแนวทางการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการขนส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนและฝุ่น PM 2.5 จากภาคการขนส่ง จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้า

    ล่าสุด กฟผ. และ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (บอท.) ซึ่ง อบท. ถือเป็นรัฐวิสาหกิจในการควบคุมของกองทัพเรือ สังกัดกระทรวงกลาโหม ที่มีการประกอบกิจการอุตสาหกรรมอู่เรือ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกี่ยวกับกิจการพาณิชยนาวี ได้ร่วมกันพัฒนาเรือไฟฟ้าแบบสะเทินน้ำสะเทินบกลำแรกของไทยขึ้น โดยได้นำองค์ความรู้ยานยนต์ไฟฟ้าและเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. มารวมกับความรู้เรื่องการต่อเรือ ของ บอท. โดยเรือไฟฟ้าแบบสะเทินน้ำสะเทินบกที่พัฒนาขึ้นนี้จะต่อสร้างขึ้นด้วยอลูมิเนียมอัลลอยด์ ความยาวไม่น้อยกว่า 9.50 เมตร โครงสร้างตัวรถขนาด 6 ล้อ ใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน หัวชาร์จแบบชาร์จเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charger) ประเภท CCS type 2 มีความเร็วเมื่อแล่นบนบกไม่น้อยกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อแล่นในน้ำจะมีความเร็วไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถรองรับผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 20 คน ภายในตัวเรือ ประกอบด้วย เครื่องเสียง โทรทัศน์ กล้องวงจรปิด (CCTV) และระบบปรับอากาศ

    นอกจากนี้ยังร่วมกันพัฒนาเรืออลูมิเนียมท้องแบนขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า สำหรับใช้เป็นเรือตรวจการณ์อีกจำนวน 5 ลำ ต่อสร้างขึ้นด้วยอลูมิเนียมอัลลอยด์ ความยาวไม่น้อยกว่า 5 เมตร ความกว้างตัวเรือไม่น้อยกว่า 2 เมตร กินน้ำลึกสูงสุดไม่เกิน 0.30 เมตร ใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน หัวชาร์จแบบชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charger) มีความเร็วไม่น้อยกว่า 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 6 คน

   จากความร่วมมือดังกล่าว กฟผ และ บอท. จึงได้ร่วมกันจัดพิธีวางกระดูกงูเรือไฟฟ้าแบบสะเทินน้ำสะเทินบกลำแรกของไทย เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการต่อสร้างเรือ สนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวสีเขียวของ กฟผ. เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นไปตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม Green Tourism ที่ประกอบไปด้วยการพัฒนา Smart House ซึ่งเป็นการนำร่องนำ Internet of Things (IOTs) มาประยุกต์ใช้กับที่พักสวัสดิการในพื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ การพัฒนาการให้บริการทางด้านที่พักเพื่อสุขภาพร่วมกับพันธมิตรของ กฟผ. การนำยานยนต์ไฟฟ้าและเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้ามาใช้ รวมไปถึงการให้บริการท่องเที่ยวด้วยเรือไฟฟ้าสะเทินน้ำสะเทินบกอีกด้วย โดยแพลตฟอร์ม Green Tourism จะมีการพัฒนาควบคู่ไปกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่เขื่อนและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โดยจะเริ่มนำมาใช้ในพื้นที่ส่งเสริมนโยบาย Green Community ของเขื่อนศรีนครินทร์ ทั้งนี้ ความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนา EV Boat Solution ในอนาคต และคาดหวังว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

    ทั้งนี้ เรือไฟฟ้าแบบสะเทินน้ำสะเทินบกและเรืออลูมิเนียมท้องแบนขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นจะนำร่องใช้งานที่เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เป็นแห่งแรก ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 หวังว่าเรื่องราวในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังทุกท่าน กลับมาพบกันได้ใหม่ในตอนหน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ