01-11-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 56 ผลกระทบด้านพลังงานจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

   สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.สำหรับเรื่องราวดี ๆ ในวันนี้จะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับผลกระทบด้านพลังงานจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนกันนะคะ หลายคนคงจะสงสัยว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่งผลกระทบด้านพลังงานอย่างไร และมีแนวทางแก้ไข และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร ลองมาฟังกันค่ะ

   วิกฤตราคาพลังงานที่ยังผันผวน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังไม่สามารถหาบทสรุป และความคุกรุ่นของสถานการณ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่พร้อมปะทุทุกเมื่อ ตลอดจนคลื่นความร้อนที่รุนแรงในทวีปยุโรปทำให้หลายประเทศประสบปัญหา ขาดแคลนพลังงานอย่างหนักและต้องเผชิญกับราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยล่าสุดประเทศศรีลังกาจำเป็น ต้องประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตรา 264 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 90 กิโลวัตต์ต่อเดือน จากยูนิตละ 2.50 รูปีศรีลังกา (0.25 บาท) เป็นยูนิตละ 8 รูปีศรีลังกา (0.79 บาท) นับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ในขณะที่เมียนมาประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันจนต้องจำกัดการซื้อน้ำมันรถจักรยานยนต์คันละ 1 ลิตร ส่วนรถยนต์จำกัดการซื้อคันละ 10,000 จั๊ต หรือประมาณ 4 ลิตร

   เมื่อวิกฤตพลังงานยังไม่คลี่คลายในเวลาอันใกล้ หลายประเทศจึงต้องประกาศใช้แผนฉุกเฉินด้านพลังงาน พร้อมเดินหน้าเปิดโหมดประหยัดพลังงานอย่างเต็มที่ โดยหวังพึ่งพลังประชาชนเพื่อช่วยให้ประเทศอยู่รอดในวิกฤตพลังงานครั้งนี้ เช่น ประเทศเยอรมนี หลังจากประสบปัญหารัสเซียลดการส่งก๊าซธรรมชาติให้ยุโรป ทำให้ล่าสุดรัฐบาลเยอรมนีได้นำมาตรการประหยัดไฟมาใช้ ในเมืองต่าง ๆ โดยเริ่มปิดไฟตามสถานที่สำคัญในเวลากลางคืน เช่น ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเบอร์ลิน อนุสาวรีย์ ปิดน้ำพุ ห้ามใช้น้ำอุ่นในสระว่ายน้ำและโรงยิม และงดใช้เครื่องทำความร้อนภายในที่พักอาศัย เช่นเดียวกับประเทศฮังการีได้ออกมาประกาศภาวะฉุกเฉินทางพลังงาน พร้อมดำเนินมาตรการลดการใช้พลังงาน แนะนำให้ประชาชนปรับลดอุณหภูมิเครื่องทำความร้อน ในประเทศออสเตรีย ห้างค้าปลีกสปาร์ประกาศลดชั่วโมงการเปิดไฟป้ายโฆษณาบริเวณด้านหน้าของสาขาต่าง ๆ มากกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการใช้พลังงานถึงปีละกว่า 1,000 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ส่วน Leclerc ห้างค้าปลีกอาหารรายใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสอาจลดชั่วโมงการเปิดบริการตามสาขาต่าง ๆ และคาร์ฟูร์ กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตข้ามชาติมีสำนักงานใหญ่ในประเทศฝรั่งเศสได้ลงนามร่วมกับบริษัทการไฟฟ้าแห่งฝรั่งเศส (RTE) ลดการใช้ไฟฟ้าตามสาขาต่าง ๆ ในช่วงที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง

   นายเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีของประเทศสเปน เรียกร้องให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ของรัฐ และพนักงานบริษัทเอกชน เลิกผูกเนกไทไปทำงานเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน รวมถึงการรณรงค์ให้บริษัทต่าง ๆ ปิดประตูเพื่อกันความร้อนจากอากาศด้านนอก เข้ามาภายในอาคาร ช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ

    ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานแพง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงควบคู่กับการดำเนินมาตรการประหยัดอย่างเข้มข้น โดยตั้งเป้าให้หน่วยงานภาครัฐลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันลง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต่างขานรับมาตรการลดใช้พลังงานอย่างเต็มที่ อาทิ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส และกำหนดเวลาปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงพักกลางวันและก่อนเวลาเลิกงานอย่างน้อย 30–60 นาที ปิดลิฟต์บางตัวในช่วงที่มีการใช้งานน้อย และรณรงค์ขึ้น-ลงชั้นเดียวไม่ใช้ลิฟต์ รณรงค์ให้พนักงานสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และงดใส่สูท สนับสนุนการประชุมออนไลน์เพื่อลดการเดินทางและการใช้น้ำมัน

   สำหรับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าก็สามารถช่วยประเทศด้วยการประหยัดพลังงานได้ง่าย ๆ เพียงปรับนิสัยการใช้ไฟฟ้าและเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดไฟฟ้ายิ่งกว่าเดิมเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากเบอร์ 5

   การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดใช้พลังงานของประชาชนง่าย ๆ นอกจากช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าแล้ว ยังเป็นพลังสำคัญของประเทศในการลดใช้พลังงานในภาพรวม ช่วยลดความเสี่ยงด้านพลังงานและลดการนำเข้าพลังงานราคาสูงเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตพลังงานในครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน กลับมาพบกับสาระดีๆ ได้ใหม่ในตอนหน้า สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ