01-11-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 57 กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

   สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.” สำหรับเรื่องราวดี ๆ ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” กันค่ะ ผู้ฟังหลาย ๆ ท่าน อาจจะเคยได้ยินชื่อของกองทุนนี้กันมาบ้าง ว่าแต่กองทุนนี้คือกองทุนอะไร มีประโยชน์อย่างไร เราไปรับฟังกันเลยดีกว่าค่ะ

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” เป็นกองทุนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีหน่วยงานที่กำกับดูแล 2 หน่วยงาน คือ

  • คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. มีหน้าที่จัดทำร่างระเบียบตามนโยบายที่ได้รับมาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ
  • สำนักงานคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน หรือ สกพ. มีหน้าที่รับเงิน จ่ายเงิน เก็บรักษา และบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ค่ะ

สำหรับกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง

  • เพื่อให้ประชาชนทุกคน ในทุกพื้นที่มีไฟฟ้าใช้กันอย่างทั่วถึง การกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น
  • และเพื่อพัฒนาชุมชนบริเวณรอบโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า
  • รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

ทั้งนี้ แหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับกองทุนฯ นั้น มาจาก 4 แหล่งด้วยกัน โดย

ส่วนใหญ่จะมาจาก แหล่งที่ 1 เก็บจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าหรือผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้า และเมื่อมีการจ่ายไฟฟ้าเป็นรายเดือน ซึ่งแต่ละที่จะจ่ายในอัตราที่ไม่เท่ากัน ขึ้นกับปริมาณการผลิตไฟฟ้าและประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า

ถ้าเป็น ถ่านหิน ลิกไนต์ และน้ำ จะจ่ายเข้ากองทุนที่ 2.0 บาท ต่อ หน่วยไฟฟ้า

น้ำมันเตา ดีเซล ก็จะจ่าย 1.5 บาท ต่อ หน่วยไฟฟ้า

ก๊าซธรรมชาติ ลม แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล กากและเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชน จะจ่ายเข้ากองทุน 1.0 บาท ต่อ หน่วยไฟฟ้า

แหล่งที่ 2 จากค่าปรับที่เรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

แหล่งที่ 3 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้กับกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

แหล่งที่ 4 เงินหรือดอกผลหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

 


ที่มา https://pdf.erc.or.th/MenuInternal/detail/39

และจากข้อมูลของเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565 เรามีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 714 กองทุนด้วยกัน แบ่งเป็น

  • กองทุนพัฒนาไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ กองทุนประเภท ก จำนวน 15 กองทุน เป็นโรงไฟฟ้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี
  • กองทุนพัฒนาไฟฟ้าขนาดกลาง หรือกองทุนประเภท ข จำนวน 44 กองทุน เป็นโรงไฟฟ้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ระหว่าง 1 ล้านบาท - 50 ล้านบาท ต่อปี และ
  • กองทุนพัฒนาไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ กองทุนประเภท ค อีกจำนวน 655 กองทุน เป็นโรงไฟฟ้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อปี

จะเห็นได้ว่า ยิ่งถ้าโรงไฟฟ้ามีขนาดใหญ่ เงินที่นำเข้ากองทุนก็จะยิ่งเยอะขึ้นตามไปด้วย อีกทั้ง ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กค่อนข้างเยอะทำให้มีกองทุนขนาดเล็กหลายร้อยกองทุนค่ะ

แต่กองทุนฯ นี้ไม่ใช่ว่า ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้นะคะ ผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะใช้เงินของกองทุนฯ ต้องอยู่ในตำบลบริเวณรอบโรงไฟฟ้า ที่มีการประกาศจาก กกพ. ตามการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเท่านั้นค่ะ

ซึ่งโครงการชุมชนในพื้นที่ที่กองทุนฯ ให้การสนับสนุนจะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อชุมชน ในด้านการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะ การพัฒนาอาชีพ / การเกษตร / เศรษฐกิจชุมชน / คุณภาพชีวิต / การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี / ชุมชน การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุน เรียกได้ว่าเป็นการสนับสนุนชุมชนในทุกรอบด้านเลยนะคะ

   สำหรับ กฟผ. เองก็มีหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทุนฯ เหมือนกัน ซึ่งก็คือ การนำส่งแบบการรายงานข้อมูล และนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ สำหรับผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยค่ะ หวังว่าท่านผู้ฟังทุกท่านคงจะได้รับข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับกองทุนพัฒนาไฟฟ้ากันไปพอสมควรกันเลยนะคะ สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ