14-11-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 59 ตามติดชีวิต ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน กฟผ.

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.” กันอีกเช่นเคยนะคะ

          ช่วงนี้อย่างที่เรารู้กันว่าเป็นช่วงหน้าฝนของประเทศ หลายๆ คน เลยก็อาจจะกังวลว่า ถ้าหากประเทศไทยมีฝนตกหนัก มีพายุเข้าแบบนี้ เขื่อนของ กฟผ.จะได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายหรือไม่ เพราะเขื่อนเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ได้เพียงแค่เก็บกักน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ ด้านชลประทาน การเกษตรกรรม อุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการระบายน้ำของเขื่อนอีกด้วย วันนี้ เราเลยจะพาไปทำความรู้จักกับผู้ที่จะทำหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคงของเขื่อนให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยกันค่ะ

          ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน เปรียบเสมือนคุณหมอที่คอยดูแลรักษาสุขภาพเขื่อน ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจวัด ติดตามและบำรุงรักษาเขื่อนของ กฟผ. ทั่วประเทศเป็นประจำอยู่ทุกวัน ทุกสัปดาห์ และทุกเดือน ผ่านกระบวนการตรวจเขื่อน โดยภารกิจแรกจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงเช้า ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะมุ่งหน้าขึ้นสันเขื่อนเพื่อตรวจวัดค่าอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยา เริ่มตั้งแต่วัดอุณหภูมิ วัดค่าการระเหยของน้ำ วัดปริมาณน้ำฝน วัดความชื้นสัมพัทธ์ วัดระดับน้ำ หลังจากนั้นจะต้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปคำนวณปริมาณน้ำเข้า-ออกในอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้สำหรับบริหารจัดการรองรับสถานการณ์น้ำหลากและน้ำแล้ง หากพบว่า น้ำเข้าเขื่อนมีปริมาณมาก และมีฝนตกหนัก อาจสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนและเกิดน้ำท่วมไปถึงบ้านเรือนของประชาชนได้ ซึ่งนี่เป็นเพียงภารกิจแรกที่ผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนต้องทำเป็นประจำทุกวันไม่มีวันหยุด

          หลังจากนั้น ในทุกๆ สัปดาห์ ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะมีภารกิจเข้าอุโมงค์ตรวจสอบความมั่นคงเขื่อน โดยอุโมงนี้จะทำหน้าที่คั่นกลางระหว่างเหนือน้ำและท้ายน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อน ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะต้องเข้าตรวจสอบสำรวจสภาพคอนกรีตของอุโมงค์ด้วยสายตา ภายใต้ความมืดที่อาศัยแสงสว่างจากไฟฉายและโคมไฟเล็กๆ ในอุโมงค์เท่านั้น แต่ด้วยความชำนาญของทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จึงไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการหาร่องรอยและสำรวจสภาพคอนกรีตในอุโมงค์ และหากพบความผิดปกติเล็กๆน้อยๆ จะต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยทันที

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น วัดแรงดันน้ำ เพื่อติดตามแรงดันน้ำในฐานรากเขื่อน ตรวจวัดอัตราการไหลซึมของน้ำผ่านตัวเขื่อน และตรวจวัดระดับน้ำใต้ดิน ให้มีค่าวัดอยู่ในเกณฑ์ปกติตลอด หากพบค่าบวกหรือลบที่ผิดปกติ ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จะไม่นิ่งนอนใจและจะต้องเข้าตรวจสอบสาเหตุและซ่อมแซม เพื่อรักษาสภาพของตัวเขื่อนให้มีความมั่นคงปลอดภัยอยู่เสมอ

          ไม่เพียงเท่านี้นะคะ ตัวเขื่อนที่สร้างขึ้นมาทำหน้าที่กั้นน้ำจำนวนมหาศาลจนเกิดเป็นอ่างเก็บน้ำนี้ จะต้องรองรับแรงดันที่เกิดจากน้ำปริมาณมหาศาล จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการทรุดตัวและเคลื่อนตัวจากแรงดันน้ำ แต่การทรุดตัวและเคลื่อนตัวนั้น ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ออกแบบไว้ก่อนการสร้างเขื่อน ดังนั้น ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน จึงต้องติดตามและคอยตรวจเช็คการทรุดตัวและเคลื่อนตัวของตัวเขื่อน ทุกๆ 3 เดือน เพื่อยืนยันว่าเขื่อนยังมีความมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ

          ในส่วนของการระบายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ จะต้องเป็นน้ำที่ปราศจากเศษขยะและสวะ จึงได้มีการจัดทำทุ่นลอยน้ำพร้อมตะแกรงกันขยะใต้น้ำ เพื่อคอยทำหน้าที่กั้นขยะบริเวณเหนือน้ำก่อนที่น้ำจะไหลเข้าสู่ท่อส่งน้ำ ทีมผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ต้องคอยดูแลทุ่นลอยน้ำดังกล่าวให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมทั้งคอยเก็บขยะและสวะอยู่เป็นประจำทุกสัปดาห์ และต้องสำรวจอ่างเก็บน้ำอยู่เสมอ เพื่อสังเกตการรุกล้ำของสิ่งก่อสร้างถาวรในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ หากพบสิ่งก่อสร้างถาวรที่รุกล้ำ ต้องมีการส่งจดหมายแจ้งเตือนให้ผู้บุกรุกรับทราบทันที เพื่อป้องกันผลกระทบต่ออ่างเก็บน้ำ ความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

เป็นยังไงกันบ้างคะ กับภารกิจของผู้รักษาความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน ที่มุ่งมั่นในการดูแลและบำรุงรักษาเขื่อนทุกเขื่อนของ กฟผ. ทั่วทั้งประเทศไทยให้มีความมั่นคง ปลอดภัย เพื่อคอยเป็นเบื้องหลังในการผลิตไฟฟ้าสร้างความสุขและอยู่เคียงข้างสังคมไทยตลอดไป กลับมาพบกับเรื่องราวดีๆ แบบนี้กันได้ใหม่ในตอนต่อไปนะคะ สวัสดีค่ะ