14-11-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 60 กฟผ. ใส่ใจรอบด้าน ! มุ่งพัฒนาศักยภาพการผลิตไฟฟ้า ควบคู่ดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับสาระความรู้ดี ๆ ในเรื่องพลังงานกับช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.” กันอีกเช่นเคยนะคะ 

         นอกเหนือจากภารกิจสำคัญในการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน และการดูแลรักษาความมั่นคงระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศแล้ว ยังมีอีกสิ่งที่ กฟผ. ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพราะ กฟผ. ตระหนักดีว่า “ไฟฟ้า” เป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ฉันใด ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ทุกชีวิตไม่ว่าจะมนุษย์หรือสัตว์ มีสุขภาพที่ดีฉันนั้น ดังนั้นเพื่อจะขับเคลื่อนปัจจัยทั้งสองนี้ไปพร้อม ๆ กัน กฟผ. จึงมีการควบคุมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าอย่างรอบด้านไม่ว่าจะเป็นคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ คุณภาพเสียง และการกำจัดของเสีย แต่จะมีการดูแลอย่างไร วันนี้จะขอพาทุกคนไปเจาะลึกกันค่ะ

         ด้านการดูแลคุณภาพน้ำ ในการผลิตไฟฟ้า จะแบ่งการใช้น้ำออกเป็น 2 ส่วน น้ำส่วนแรก คือน้ำที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตและการอุปโภคบริโภค โรงไฟฟ้าจะสูบน้ำดิบจากแหล่งน้ำใกล้เคียงเพื่อนำมาปรับคุณภาพก่อนนำมาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า และจะควบคุมปริมาณการสูบน้ำดิบให้ไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) น้ำทิ้งที่ผ่านกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะถูกกักเก็บไว้ในบ่อพักน้ำทิ้งและทำการตรวจสอบควบคุมคุณภาพน้ำทิ้ง ให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และนำกลับมาไปใช้ประโยชน์ เช่น นำไปรดน้ำต้นไม้เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในโรงไฟฟ้า โดยไม่มีการระบายหรือปล่อยออกไปสู่ภายนอก น้ำส่วนที่สอง เป็นน้ำที่โรงไฟฟ้านำไปใช้ในระบบระบายความร้อนของหอหล่อเย็น (Cooling Tower) เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนความร้อน หรือพูดเข้าใจง่ายๆว่า น้ำส่วนนี้จะมีการควบคุมอุณหภูมิน้ำ ณ จุดปล่อยลงแหล่งน้ำรอบโรงฟ้าให้มีความแตกต่างกันไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ จึงมั่นใจได้เลยว่าน้ำที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำอย่างแน่นอน ซึ่งการแลกเปลี่ยนความร้อนของหอหล่อเย็น ทำให้เกิดไอน้ำสีขาว เกิดจากไอน้ำร้อนระเหยลอยไปกระทบความเย็นของอากาศและกลั่นตัวเป็นละอองน้ำในช่วงเช้า พลบค่ำ หรือเวลาที่อากาศชื้น เวลามองมาที่โรงไฟฟ้าเห็นคล้ายกลุ่มควัน ไม่ต้องตกใจนะคะเพราะที่เห็นนั่นเป็น “ไอน้ำ” ค่ะ

        ด้านการดูแลคุณภาพอากาศ กฟผ. มีมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม และติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงอย่างเคร่งครัด โดยมีติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดค่าการระบายมลสารทางอากาศที่ปล่องระบายอากาศอย่างต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring System: CEMS) โดยระบบจะทำการตรวจวัดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) และฝุ่นละออง (Particular Matter: PM) ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมรายงานผลการตรวจวัดไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมแบบเรียลไทม์ เพื่อทำการตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งมีการแสดงผลการตรวจวัดผ่านจอ LED และป้ายประกาศบริเวณทางเข้าโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้ชุมชนให้ทราบถึงคุณภาพอากาศได้ตลอดเวลา

        ด้านการดูแลคุณภาพเสียง การตรวจวัดระดับเสียงเริ่มตั้งแต่ระยะก่อนก่อสร้าง จนถึงระยะดำเนินการ มีการติดตั้งวัสดุดูดซับเสียงและชุดลดเสียง บริเวณกำแพงของเครื่องหรืออุปกรณ์ที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงดัง เช่น เครื่องกังหันก๊าซ เครื่องกังหันไอน้ำของโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีมาตรการติดตามและเฝ้าระวังตรวจวัดระดับเสียงภายในพื้นที่โรงไฟฟ้า ตรวจวัดระดับเสียงของเครื่องจักร จัดทำแผนที่เส้นระดับเสียง รวมถึงการตรวจวัดระดับเสียงโดยทั่วไปบริเวณชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมานั้นคุณภาพเสียงที่วัดได้มีค่าอยู่ในเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนดไว้มาโดยตลอด

        สุดท้ายด้านการดูแลของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า เช่น แผ่นไส้กรองอากาศเสื่อมสภาพ น้ำมันเสื่อมสภาพ น้ำมันหล่อลื่นและเรซิ่นที่ผ่านการใช้งานแล้ว หรือฉนวนหุ้มกันความร้อนเสื่อมสภาพจะถูกรวบรวมและส่งไปกำจัดโดยบริษัทที่ได้รับใบรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการรายงานข้อมูลการแจ้งขนส่งของเสียอันตรายออกนอกบริเวณโรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รับทราบอีกด้วย

กฟผ. ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านในทุกกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้สิ่งแวดล้อมทั้งในพื้นที่โรงไฟฟ้าและชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า มีสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยสำหรับทุกชีวิต ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างสมดุลให้คนไทยมีไฟฟ้าใช้ควบคู่ไปกับการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ดั่งสโลแกนที่ว่า “กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย" กลับมาพบกับสาระความรู้ดี ๆ ด้านพลังงานกันได้ใหม่ในตอนต่อไป สวัสดีค่ะ