14-11-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 61 โรงไฟฟ้าขยะ

ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.” สำหรับเรื่องราวดี ๆ ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “โรงไฟฟ้าขยะ” กันค่ะ

    หลาย ๆ คน พอพูดถึง “ขยะ” ปุ๊บ ก็อาจจะเมินหน้าหนีกันเลยทีเดียว แต่ทราบไหมคะว่า ขยะถือเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงที่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้ด้วย แถมโรงไฟฟ้าขยะนั้นยังมีส่วนช่วยเรื่องการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมด้วยนะคะ เพราะว่าในปัจจุบันการที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณของขยะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การนำขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน จะช่วยทั้งในเรื่องของการลดปริมาณขยะ ที่จะแก้ปัญหาขยะล้นเมือง และการลดการใช้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลที่นับวันจะยิ่งมีปริมาณลดน้อยลงไปทุกทีค่ะ

    จากปัญหาขยะของประเทศไทยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ทำให้เกิดเป็นนโยบายการนำพลังงานที่ได้จากขยะซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงทางเลือกมาใช้ผลิตไฟฟ้า โดยใส่ไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 Revision 1 และ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 หรือ AEDP 2018 (Alternative Energy Development Plan) ซึ่งมีการกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ ที่มุ่งเน้นการรักษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยในปี พ.ศ.2580 ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนให้ได้ถึง 900 เมกะวัตต์ และจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมอีก 75 เมกะวัตต์ จากพลังงานทั้งหมด 29,411 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะผลิตได้จากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอื่น ๆ

    สำหรับกระบวนการในการผลิตไฟฟ้าจากขยะนั้น แทบจะไม่ต่างกับการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเลยค่ะ เพียงแต่ต้องเพิ่มขั้นตอนก่อนนำขยะไปเผาเล็กน้อย โดยขั้นตอนแรกสุด คือ เมื่อขยะเข้ามายังโรงไฟฟ้าแล้ว ต้องทำการคัดแยก โดยแยกเป็นขยะที่สามารถป้อนไปเป็นเชื้อเพลิง และขยะที่ไม่สามารถป้อนเป็นเชื้อเพลิงได้ จากนั้นจะนำไปเข้าขั้นตอนการตัดขยะที่จะป้อนเป็นเชื้อเพลิงได้ ให้มีขนาดที่เหมาะสม พร้อมกับการปรับขยะให้มีคุณภาพเสมือนกับเชื้อเพลิง มีค่าความร้อนที่ดี ค่าความชื้นน้อย เพื่อให้เมื่อเผาแล้วได้อุณหภูมิออกมาคงที่สม่ำเสมอ และเมื่อได้ความร้อนออกมา จึงนำความร้อนดังกล่าวไปต้มน้ำ จนน้ำเดือดกลายเป็นไอน้ำ แล้วนำไปปั่นกังหันไอน้ำที่ต่อกับตัวปั่นไฟ

เมื่อพูดถึงโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใด ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด โรงไฟฟ้าขยะก็เช่นเดียวกันค่ะ โดยข้อดีของโรงไฟฟ้าขยะ คือ

  • ช่วยลดปริมาณขยะ
  • ให้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการกำจัดขยะ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดการนำเข้าพลังงานหรือเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และ
  • ได้ผงคาร์บอนหรือขี้เถ้าจากการเผาขยะ ซึ่งสามารถเอาไปถมทะเลได้

ส่วนข้อจำกัดของโรงไฟฟ้าขยะ คือ

  • ต้องมีการบริหารจัดการขยะที่ดี ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ยังควบคุมได้ยาก และ
  • ประชาชนในหลายพื้นที่ยังคงกลัวเรื่องปัญหามลภาวะเป็นพิษในชุมชน ที่อาจเป็นอันตรายกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลเสียที่จะตามมาพร้อมกับ “โรงไฟฟ้าขยะ” ด้วย

ทั้งนี้ หากภาครัฐและภาคเอกชนสามารถตอบประเด็นคำถามเรื่องผลดีและผลเสียของโรงไฟฟ้าขยะได้อย่างชัดเจน มีการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน จนสามารถทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน ก็จะทำให้ลดเสียงคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าได้

ถึงแม้เราจะมีโรงไฟฟ้าขยะที่ช่วยลดขยะได้บางส่วนแล้ว เราเองก็ควรจะช่วยกันลดปริมาณของขยะ ซึ่งสามารถทำง่าย ๆ ด้วยหลัก 3R นะคะ

R แรก Reduce คือ การลดเพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด การลดการแจกถุงพลาสติกของร้านค้า ก็เป็นการลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น

R ต่อมา Reuse คือ การใช้ซ้ำ ไม่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เราสามารถนำถุงพลาสติกที่ได้รับ มาใช้ซ้ำได้อีกหลายครั้ง

ส่วน R ที่สามคือ Recycle เมื่อเราไม่ต้องการของที่เราใช้แล้ว เราสามารถนำไปบริจาคหรือนำไปแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะปฏิบัติตามหลัก 3R กัน ขยะก็น่าจะยังคงจะมีอยู่ แต่อย่างน้อยปริมาณก็คงจะลดลงบ้างไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว

สำหรับวันนี้ ท่านผู้ฟังคงจะได้รับความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าขยะ และวิธีการลดปริมาณขยะกันไปแล้ว หวังว่าหลาย ๆ ท่านคงจะนำเอาไปปรับใช้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้นนะคะ

สวัสดีค่ะ

 


ที่มา https://www.thebangkokinsight.com/news/environmental-sustainability/532175/#:~:text=ใช้ต่อไป-,แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก%20พ.ศ,หมุนเวียนที่%2029%2C411%20เมกะวัตต์