14-11-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 66 อาคารเขียวอนุรักษ์พลังงาน Green Building

กลับมาพบกับสาระความรู้ดี ๆ ในเรื่องพลังงานกับช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.” กันอีกเช่นเคยนะคะ 

    “ภาวะโลกรวน” เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญและพยายามค้นหาวิธีที่จะแก้ปัญหา ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เห็นได้จากหลายเวทีในระดับโลกที่ต่างมีเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใส่ใจเรื่องการประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยในวงการการออกแบบและก่อสร้าง ก็ได้หาแนวทางที่จะมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกันผ่านกระบวนการ “การออกแบบและก่อสร้างอาคารเขียว หรือ Green Building”  ซึ่งนอกจากจะออกแบบให้มีความสวยงาม แข็งแรง และมีพื้นที่การใช้สอยที่ครบครัน อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กัน คือ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน

    อาคารเขียว หรือ Green building ไม่ใช่อาคารที่ทาสีเขียว แต่คืออาคารที่สร้างขึ้นโดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดอายุการใช้งานของตัวอาคาร เริ่มตั้งแต่การเลือกทำเลที่ตั้ง การออกแบบ การก่อสร้าง การบำรุงรักษาซ่อมแซม ปรับปรุง รวมไปถึงการทำลายตัวอาคารให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยการที่จะประเมินว่าอาคารใดเป็นอาคารเขียวหรือไม่ จะต้องผ่านมาตรฐานเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวของประเทศสหรัฐอเมริกา (LEED) และมาตรฐานเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability : TREES) จากสถาบันอาคารเขียวไทย โดยจะมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประสิทธิภาพของการใช้น้ำ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ 

    อาคารศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัยแล้ว ยังถูกออกแบบภายใต้แนวคิดอาคารเขียว ยกตัวอย่างเช่น ด้านพลังงานไฟฟ้า มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในหลายจุด ทั้งตามผนังอาคาร หลังคาที่จอดรถ ซึ่งโซลาร์เซลล์เป็นแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่อที่จะเอามาช่วยลดและประหยัดการใช้พลังงานหลักที่อาคารใช้อยู่ได้อีกทาง ด้านระบบน้ำ มีทีมวิศวกรที่ดูแลระบบหมุนเวียนน้ำ ตั้งแต่การกักเก็บน้ำฝนในบ่อหน่วงน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในกรณีต่างๆ ส่วนน้ำเสียจะนำมาบำบัดให้ได้คุณภาพน้ำที่ดี แล้วก็นำไปใช้ต่อ เช่น การรดน้ำต้นไม้ ไม่ได้ปล่อยลงท่อออกสู่ภายนอก ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานลงได้กว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับอาคารสำนักงานทั่วไปที่มีขนาดใกล้เคียงกัน จนสามารถผ่านการตรวจประเมินอาคารตามมาตรฐานเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability : TREES) และได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวของประเทศสหรัฐอเมริกา (LEED) ในช่วงคะแนนสูงสุด ระดับ PLATINUM จนคว้ารางวัลดีเด่นจากการประกวด Thailand Energy Awards 2020 ประเภท อาคารสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (อาคารใหม่) และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวด ASEAN Energy Awards 2021) ด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารเขียว (Green Building) อาคารศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จึงเป็นอาคารแห่งแรกของ กฟผ. ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน TREES และ LEED ในระดับ PLATINUM เป็นการสะท้อนว่า กฟผ. เอาจริงเรื่องการลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

    นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา ก็เป็นอีกศูนย์การเรียนรู้หนึ่ง ที่ถูกออกแบบให้มีการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนถึง 3 ประเภท ได้แก่ ไฟฟ้าจากโครงการกังหันลมลำตะคอง ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคาร และไฟฟ้าจากระบบ wind hydrogen hybrid  โดยพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของอาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้ทั้งหมด อยู่ที่ประมาณ 300,000 หน่วยต่อปี และยังสามารถส่งจ่ายไฟฟ้าที่เหลือเข้าสู่ระบบได้อีกด้วย ถือเป็นต้นแบบ Green Energy ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% อีกเช่นกัน

    จะเห็นได้ว่าศูนย์การเรียนของ กฟผ. มีจุดมุ่งหมายที่จะใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผลักดันประเทศไทยให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 กลับมาพบกับสาระความรู้ดี ๆ แบบนี้ได้ใหม่ในตอนต่อไป สวัสดีค่ะ