14-11-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 69 โรงไฟฟ้าเสมือน โรงไฟฟ้าแห่งอนาคต

ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาที กับ กฟผ.” ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ “โรงไฟฟ้าเสมือน” หรือ “Virtual Power Plant” ซึ่งสามารถเรียกย่อ ๆ ได้ว่า VPP กันค่ะ

    ตามที่เราทราบกันดีว่า ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy เพราะเป็นพลังงานสะอาด สามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งจากแสงแดด ลม น้ำ และชีวมวลนั้น ยังมีข้อจำกัด คือ โรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา จึงไม่สามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้เช่นเดียวโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงได้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. จึงได้ศึกษาวิจัยเทคโนโลยี “โรงไฟฟ้าเสมือน” เพื่อนำมาสร้างเสถียรภาพ เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น

    “โรงไฟฟ้าเสมือน” หรือ VPP เป็นโรงไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อาศัยการคาดการณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกโรงที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายให้มารวมกันอยู่ที่เดียว มีการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ใช้ ทั้ง IoT ที่จะคอยช่วยสังเกตการณ์และควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ แบบทางไกล และการใช้องค์ความรู้จาก AI คาดการณ์ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนภายในกลุ่มมาคำนวณและสั่งการผลิตไฟฟ้าตามปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ

     โรงไฟฟ้าเสมือนจึงทำหน้าที่เหมือนศูนย์ควบคุมที่รวมรวบโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหลายประเภทเข้าไว้ด้วยกัน โดยนำเอาความได้เปรียบของคุณลักษณะเฉพาะจากโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทมาเติมเต็มและเสริมความมั่นคงซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่น กรณีที่ไม่มีแสงแดด ทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ โรงไฟฟ้าเสมือนจะสั่งการให้โรงไฟฟ้าชีวมวลผลิตไฟฟ้าเข้าไปในระบบแทน โดยมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage) เป็นพลังงานสำรอง

ปัจจุบัน กฟผ. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศึกษาวิจัยโรงไฟฟ้าเสมือน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 เป็นช่วงการออกแบบโมเดลการสั่งการเดินเครื่องในรูปแบบโรงไฟฟ้าเสมือน และคัดเลือกโรงไฟฟ้าที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่อง

ระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาระบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และทดสอบระบบการสั่งการโรงไฟฟ้า

สำหรับในระยะที่ 3 ซึ่งจะเริ่มต้นในปีหน้า จะเป็นการทดลองระบบการคำนวณหน่วยการผลิตและการซื้อขายหน่วยไฟฟ้าในพื้นที่เป้าหมาย โดยใช้โรงไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นโรงไฟฟ้าหลัก คาดว่าภายในปี 2573 จะมีรูปแบบธุรกิจโรงไฟฟ้าเสมือนที่มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 400 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นในประเทศไทย

แล้วโรงไฟฟ้าเสมือนมีข้อดีอย่างไรบ้าง เรามารับฟังกันเลยดีกว่าค่ะ

ข้อแรก การดำเนินการในรูปแบบความร่วมมือกันของโรงไฟฟ้าหลาย ๆ โรง ที่ควบคุมโดยโรงไฟฟ้าเสมือนที่เป็นศูนย์กลาง ทำให้การผลิตไฟฟ้าเข้าระบบมีความเสถียรและมั่นคงเหมือนกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนโรงหนึ่งเลยทีเดียว

ข้อที่สอง คือ การช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ไฟฟ้าได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพราะโดยปกติแล้ว ถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าเสมือนคอยควบคุมไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนอาจทำให้ระบบไฟฟ้าขาดเสถียรภาพ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเสริมระบบขึ้นมาทันทีที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งเชื้อเพลิงที่ใช้รวมถึงต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่จะนำไปช่วยเสริมระบบจะก่อให้เกิดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่มีราคาสูง และส่งผลให้ค่าไฟแพง

ข้อที่สาม โรงไฟฟ้าเสมือนทำให้อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าเกิดการเติบโต ด้วยรูปแบบธุรกิจที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยสามารถเข้าแข่งขันในธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้เทียบเท่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล และมีรายได้แน่นอนมากขึ้น หรือเปรียบเสมือนกับการที่ผู้ค้ารายเล็กรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดกำลังผลิตไฟฟ้าปริมาณมากและมีความเสถียรมากขึ้น เป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตไฟฟ้านั่นเอง

    โรงไฟฟ้าเสมือนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจที่จะมารองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาและลดการสูญเสียของภาคการผลิตให้ผลิตไฟฟ้าได้ใกล้เคียงกับความต้องการใช้ไฟด้วยการวิเคราะห์และคาดการณ์ด้วยเทคโนโลยีที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา นอกจากนี้ ยังจะเป็นส่วนช่วยลดปริมาณคาร์บอน (Decarbonization) ส่งผลให้การเกิดก๊าซเรือนกระจกลดลง ตามแนวทางการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอีกด้วยค่ะ

แล้วกลับมาพบกับเรื่องราวสาระดี ๆ ทางด้านพลังงานกันได้ใหม่ในตอนหน้านะคะ สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ

 

 

https://www.egat.co.th/egattoday/index.php?option=com_k2&view=item&id=14522:28042564faifa01-2

https://www.electricityandindustry.com/vpp-โรงไฟฟ้าเสมือน-virtual-power-plant/

https://www.smartsme.co.th/content/220126