13-12-2565

รอบรู้ Energy กับ กฝผ ตอนที่ 71 กระทรวงพลังงานส่งเสริมพลังงานสะอาด เพิ่มสัดส่วนในแผนพลังงานชาติ

   สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง “รอบรู้ Energy 5 นาทีกับ กฟผ.” วันนี้ทางรายการของเราก็มีสาระความรู้ด้านพลังงานมาเล่าให้ทุกคนฟังกันอีกเช่นเคย จะเป็นเรื่องอะไร ไปติดตามกันค่ะ

   จากที่ประเทศไทยได้มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 (Net Zero) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานเป็นสำคัญ เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 256 ล้านตันต่อปีคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% เลยทีเดียว

   ทั้งนี้องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA คาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า มีแนวโน้มการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกประเภท ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งหากต้องการให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำให้มากขึ้น

   ดังนั้น ปัจจัยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่ความยั่งยืนและเกิดความสมดุลด้านพลังงาน จะต้องทำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้เพียงพอรองรับความต้องการพลังงานในอนาคตรองรับพลังงานสะอาดที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์รูปแบบธุรกิจพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มพลังงานในอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และสมาร์ทกริด (Smart Grid) รวมทั้งการพัฒนาหรือนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยสนับสนุน เช่น เทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ (Carbon Capture, Utilizationand Storage : CCUS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต การเตรียมบุคลากรด้านต่าง ๆ ให้มีความรู้และทักษะที่สนับสนุนการดำเนินงานตามแนวโน้มการพัฒนาพลังงานในอนาคต รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนเป้าหมายและนโยบายของประเทศ ทั้งภาคธุรกิจที่จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงาน ภาควิชาการที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานในประเทศ และภาคประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงมีส่วนร่วมในโครงการด้านพลังงาน เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

     ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จึงได้มีการจัดทำแผนพลังงานภายใต้กรอบความเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยได้กำหนดกรอบที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ร่วมกับ ระบบกักเก็บพลังงาน

   ทั้งนี้ภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ จะมีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี (ปี 2565-2580) เป็นแผนย่อยรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะมีการบรรจุเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนราว 10,900 เมกะวัตต์แยกเป็น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโซลาร์ฟาร์ม 3,000 เมกะวัตต์ โซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,700 เมกะวัตต์ และมีโซลาร์รูฟท็อป 300 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพ รวม 800 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าจากขยะ 600 เมกะวัตต์ แยกเป็นจากขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และขยะอุตสากรรม 200 เมกะวัตต์

   อย่างไรก็ดี กฟผ. มีศักยภาพพัฒนาโซลาร์ลอยน้ำได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์ภายใน 20 ปี ตลอดจนพื้นที่เหมืองแม่เมาะในอีก 20 ปีข้างหน้า หากต้องเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็จะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำโซลาร์ฟาร์มได้อีกด้วย ซึ่ง
กฟผ.จะกลายเป็นผู้ลงทุนพลังงานสะอาดในอนาคต

   ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานชาติ ซึ่งขณะนี้ได้ทำการรับฟังความเห็นแผนย่อย และหลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นของแผนพลังงานชาติทั้งหมด ก่อนจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป คาดว่าจะประกาศใช้แผนพลังงานชาติได้ราวไตรมาสที่ 2 ของปี 2566


กลับมาพบกับสาระความรู้ด้านพลังงานกันได้ใหม่ในตอนหน้านะคะ สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ