20-04-2558

ภาษาไทยใช้ให้ถูก

นิร

นิร (นิระ) มีความหมายว่า ไม่ ไม่มี หรือ ออก ใช้เป็นคำประกอบหน้าคำอื่น เช่น นิรคุณ หมายถึง ไม่มีลักษณะดี ไม่มีคุณ หรือ หมายถึง เลว ชั่วร้าย คำว่า นิรคุณ เมื่อแผลงเป็น เนรคุณ มีความหมายว่า ไม่รู้คุณ 

คำที่มีคำว่า นิร อยู่หน้าคำ เช่น นิรโฆษ  หมายถึง ไม่มีเสียง เงียบ สงบ สงัด นิรทุกข์ หมายถึง ไม่มีทุกข์ นิรเทศ แผลงเป็น เนรเทศ หมายถึง ขับไล่ออกจากที่เดิม นิรโทษ คือ ไม่มีโทษ นิรโทษกรรม หมายถึง การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด นิรนาม หมายถึง ไม่รู้ว่าชื่ออะไร นิรภัย คือ ไม่มีภัย แคล้วคลาดจากภัยอันตราย  นิรมล คือ ไม่มีมลทิน ไม่มัวหมอง ผ่องใส โดยปริยายหมายความว่า หญิงสวย หญิงงาม นิรมาน คือ ปราศจากการถือรั้น ไม่มีความดื้อดึง ไม่ถือตัว  นิรโรค หมายถึง ไม่มีโรค นิรโศก คือ ไม่มีความโศกเศร้า

อุปรากร

การแสดงบนเวทีชนิดหนึ่ง โดยมีลักษณะเป็นแบบละครที่ดำเนินเรื่องโดยใช้ดนตรีเป็นหลักหรือทั้งหมด เราเรียกการแสดงชนิดนี้ว่า อุปรากร  ถือเป็นส่วนหนึ่งของคนตรีคลาสสิกตะวันตก มีความใกล้เคียงกับละครเวทีในเรื่องฉาก การแสดง และเครื่องแต่งกาย แต่สิ่งสำคัญที่แยกอุปรากรออกจากละครเวทีทั่วไป คือ ความสำคัญของเพลงดนตรีที่ประกอบการร้อง ซึ่งอาจมีตั้งแต่วงดนตรีขนาดเล็กจนไปถึงวงออร์เคสตราขนาดใหญ

คำว่า อุปรากร มาจากคำว่า  O P E R A  อุปรากรไม่ได้มีเฉพาะในประเทศตะวันตกเท่านั้น ในประเทศจีนก็มี อุปรากร ซึ่งเรียกว่าอุปรากรจีน หรือ ที่เรารู้จักกันในนามว่า งิ้ว นั่นเอง

มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก

มะกอก เป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง มีผลโตขนาดลูกมะนาว มีรสเปรี้ยวใช้ปรุงอาหาร เช่น ใส่ในยำก็ได้  แต่เมื่อแก่จัดจะมีรสมัน  ที่นำเรื่องมะกอกมากล่าวถึงนี้ เพราะสำนวนไทยมีสำนวนที่เกี่ยวกับมะกอกอยู่สำนวนหนึ่ง คือ มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก สำนวนนี้คนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย จะรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะมีใช้กันมานานแล้วและก็เป็นที่นิยมใช้กันด้วย มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก หมายถึง  พูดคล่อง ตลบตะแลง พลิกแพลง กลับกลอกเลี่ยงหลบไปมา จนจับคำพูดไม่ทัน โดยมากแล้วมักใช้ว่ากล่าวถึงผู้ชายที่มีนิสัยเจ้าชู้ พูดหลอกลวงผู้หญิงไปเรื่อย ว่าเป็นประเภท มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก